กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคเห็ดป่า ให้ระวังเห็ดพิษหรือที่เรียกว่าเห็ดเมาซึ่งในไทยพบประมาณ 12 ชนิดที่รุนแรงและพบบ่อย คือเห็ดระโงกหิน มีลักษณะใกล้เคียงเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะช่วงที่ดอกเห็ดยังอ่อนหรือดอกตูม จะแยกไม่ออก พิษทนทานต่อความร้อน มีฤทธิ์ทำลายตับไต สมอง อาจเสียชีวิตใน 4-6 ชั่วโมง หากกินเห็ดพิษแกล้มกับเหล้าด้วย อาการจะอันตรายมากขึ้น ชี้การทดสอบพิษแบบพื้นบ้าน เช่นต้มพร้อมช้อนเชื่อถือไม่ได้ รอบ 4 เดือนปีนี้พบป่วยแล้ว 91 ราย และมักป่วยยกบ้าน อาการเกิดหลังรับประทาน3 ชั่วโมง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เพ้อ คลุ่มคลั่ง ซึม ชัก แนะประชาชนหลีกเลี่ยงเก็บเห็ดป่าหรือเห็ดที่ไม่รู้จักมารับประทาน ข้อสังเกตเห็ดมีพิษมักมีกลิ่นเอียน สีเข้มจัด มีขนหรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกหลังจากฝนตกจะมีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ ตามป่าเขาจำนวนมาก มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดระโงก เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดไข่ห่าน เห็ดตะไคร้ เป็นต้น และมีเห็ดพิษหรือที่เรียกว่า เห็ดเมา มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่รับประทานได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเก็บมารับประทานจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต พบได้ทุกปี ในรอบ 4 เดือนปี 2557 ตั้งแต่มกราคม–เมษายน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยกินเห็ดพิษทั่วประเทศ 91 ราย ยังไม่มีเสียชีวิต มีรายงานผู้ป่วยจากกินเห็ดพิษใน 22 จังหวัด มากอันดับ 1 ได้แก่ พังงา 23 ราย รองลงมาคือ เชียงราย 20 ราย ขอนแก่น 5 ราย ศรีสะเกษ 4 ราย สวนใหญ่อยู่ในชนบท ลักษณะการป่วยมักเป็นแบบยกบ้านคือป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว เนื่องจากกินข้าวร่วมวงกัน คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นกว่านี้4-5 เท่าตัวในช่วงฤดูฝนปีนี้ ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษ 1,381 ราย เสียชีวิต 3 ราย จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเร่งให้ให้ความรู้ประชาชน ในการบริโภคเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันปัญหาเจ็บป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการวิเคราะห์เห็ดพิษของไทยที่ประชาชนทั่วประเทศบริโภคและเกิดปัญหาได้บ่อย พบว่าอยู่ในกลุ่มสารพิษ 7 กลุ่ม ซึ่งมีประมาณ 12 ชนิดพิษมีทั้งอันตรายไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงทำให้เสียชีวิต มีชื่อตามท้องถิ่น ได้แก่ เห็ดระโงกหินหรือเห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก เห็ดสมองวัว เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่ว เห็ดเกร็ดดาว เห็ดขี้ควาย หรือบางแห่งเรียกว่าเห็ดโอสถลวงจิต เห็ดไข่หงส์ เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดกรวยเกล็ดทอง เห็ดไข่เน่า เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เป็นต้นอาการเจ็บป่วยหลังกินเห็ด พบได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุดคือเห็ดระโงกหินหรือเห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิดคือ อะมาท็อกซินส์(Amatoxins) และฟาโลท็อกซินส์ (Phallotoxins) ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดจะทนความร้อนได้ดี ดังนั้นถึงแม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังมีสูง
อาการป่วยจะปรากฏหลังรับประทานเห็ดพิษประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง ประการสำคัญ ขอให้ประชาชนระมัดระวัง อย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และเมื่อดื่มสุราไปด้วย ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเป็นตัวนำทางให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก โดยการรับประทานเห็ด อย่ารับประทานอิ่มจนเกินไปเพราะอาจทำให้ย่อยยาก และผู้ที่ระบบย่อยอาหารอ่อนแอ อาจเกิดอาหารเป็นพิษได้เช่นกัน
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษส่วนใหญ่ มักเกิดจากความไม่รู้ว่าเห็ดนั้นเป็นพิษ เพราะลักษณะของเห็ดพิษกับเห็ดที่รับประทานได้บางชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชนดังนี้ 1. ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจ และเพาะได้ทั่วไป อย่ารับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ เช่น เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ 2.ไม่ควรซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกิน
3.ขอให้จดจำลักษณะเห็ดพิษ ที่สังเกตง่าย ได้แก่ มีสีเข้มจัด เช่น แดง ส้ม ดำ หรือมีสีฉูดฉาด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีขนหรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป มีกลิ่น เห็ดพิษที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ เห็ดระโงกพิษ ซึ่งมีชื่อตามท้องถิ่นหลายชื่อคือเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก เห็ดชนิดนี้รูปร่างจะคล้ายกับเห็ดระโงกที่รับประทานได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนขึ้นเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและกลิ่นค่อนข้างแรง ช่วงที่เสี่ยงอันตรายที่สุดคือช่วงที่เห็ดยังดอกตูมหรือที่เรียกว่ากำลังเป็นไข่ ซึ่งชาวบ้านนิยมบริโภคเนื่องจากรสชาติอร่อยกว่าเห็ดบาน เห็ดทั้ง 2 ชนิดขณะยังตูมนี้ ลักษณะจะเหมือนกันมาก จึงไม่ควรบริโภคและควรหลีกเลี่ยงการเก็บ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงที่จะไปเจอเห็ดพิษ มีอันตรายถึงชีวิต
4.ในพื้นที่ที่เคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากเห็ดพิษ ขอให้ประชาชนตระหนักว่ามีเห็ดพิษชนิดรุนแรงอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเห็ดสามารถเจริญเติบโตซ้ำได้ทุกปีในช่วงฤดูฝน 5.ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้ในการทดสอบแยกชนิดเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษหลายวิธีเช่น การต้มกับข้าวสารหรือต้มกับช้อนเงิน แล้วเปลี่ยนสี ไม่สามารถนำมาใช้กับเห็ดพิษได้ โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดระโงกพิษได้ และ6.การเก็บเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ไม่ได้แสดงว่าเห็ดนั้นปลอดภัย
นายแพทย์โสภณกล่าวต่ออีกว่า ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับพิษหลังรับประทานเห็ดพิษ หลักการสำคัญที่สุด จะต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายพิษ โดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0 2590 3183 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรคโทร. 1422
- 1535 views