รองปลัด สธ. ยันพอใจบอร์ด สปสช. ยกเลิก สสจ. เป็น ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด และยกเลิกบัญชี 6 แล้ว แต่ยังไม่วางใจ ของดรับงบประมาณในส่วนที่ สตง.ทักท้วง จนกว่าการหารือเดือน มิ.ย. นี้จะเข้าใจตรงกัน
สืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือทักท้วงการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอให้มีการทบทวนบทบาทของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กับบทบาทของผอ.สปสช.สาขาจังหวัด ที่เป็นคนๆ เดียวกันนั้น เป็นเหตุให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือถึง สปสช.เพื่อขอให้ยกเลิกระเบียบการจ่ายเงินตามบัญชี 6 และขอให้ยกเลิกการแต่งตั้ง สสจ. เป็น ผอ.สปสช.สาขาจังหวัด
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 บอร์ด สปสช.ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าไปหารือในที่ประชุม และมีมติยกเลิกประกาศปี 2546 ที่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็น สปสช.สาขาจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามหลักการในการแยกบทบาทผู้จัดบริการและผู้ให้บริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพออกจากกัน เป็นไปตามข้อเสนอของ สตง. ทักท้วง และยกเลิกเงินบัญชี 6 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557เป็นต้นไป
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์
ล่าสุด นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มติบอร์ด สปสช.ที่ออกมานั้น เป็นไปในทิศทางที่อยากจะเห็นคือการพัฒนาระบบสุขภาพทั้งระบบ ที่สุดท้ายคือการทำงานร่วมกัน แต่แยกบทบาทหน้าที่ของผู้จัดบริการ กับผู้ให้บริการอย่างชัดเจน ผ่าน 3 ระดับชั้น คือ 1. ส่วนกลาง คือ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข 2. ระดับเขต คือ สปสช.เขต และเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันนี้เริ่มมีความเข็มแข็งขึ้นเรื่อยๆ มีความคุ้มค่า ความคุ้มทุนในการทำงาน และ 3. ระดับสถานบริการ
“มติของบอร์ด สปสช.ที่ออกมาเช่นนั้นถือว่าเป็นเรื่องดีที่ให้มีการประสานงานร่วมกันระดับเขตมากกว่าที่จะให้ สปสช.จังหวัดคุยกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพราะผู้บริหารทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นคนๆ เดียวกัน เป็นกลไกที่ไม่โปร่งใส การทำงานสับสน ซับซ้อนในบทบาท” นพ.วชิระ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า การทำงานต่อไปนั้น เบื้องต้นจะมีการวางเป้าหมายร่วมที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพของประชาชน และตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ใช้ต่างคนต่างวางเป้าหมาย แต่เมื่อการวางเป้าหมายต่อไปนี้คือคนหนึ่งวางเป้าหมายในการจัดบริการ อีกหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับบริการประชาชน ต้องสร้างกลไกในการคุยกันของส่วนกลางและระดับเขต และสื่อสารกับหน่วยบริการไปพร้อมๆ กัน อย่างไรก็ตามในแต่ละเขตสามารถกำหนดเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน มีการใช้ข้อมูลร่วมกัน รายงาน แบบบันทึกข้อมูลที่เป็นภาระงานให้กับผู้ทำงาน รวมไปถึงมีการติดตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพแบบเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อสปสช.มีมติที่เป็นไปในทิศทางที่กระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องแล้ว แสดงว่าเงื่อนไขที่เคยตั้งเอาไว้ เช่น การไม่รับงบประมาณจาก สปสช.นั้น จะกลับเข้าสู่กระบวนการปกติแล้วหรือไม่ นพ.วชิระ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นเพียงการหารือกันในรอบแรกเท่านั้น ในเดือนมิ.ย.จะมีการหารือกันอีกรอบเพื่อวางระเบียบแนวทางการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนขึ้น หากผลออกมาเข้าใจเช่นเดียวกันทุกอย่างก็สามารถเดินหน้าได้ตามปกติ ส่วนเงื่อนไขการไม่รับงบประมาณนั้นยังยืนยันว่าไม่รับงบประมาณในส่วนที่สตง.ทักท้วง เพราะเห็นว่าเป็นปัญหา ส่วนงบประมาณด้านอื่นๆ ยังดำเนินการตามรูปแบบปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 views