กระทรวงสาธารณสุข พบคนไทยป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชปีละเกือบ 1,800 คน พบมากสุดในฤดูฝน พิษมีทั้งเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ และพิษเรื้อรัง เช่น โรคผิวหนัง มะเร็ง โรคระบบประสาท ผลการตรวจเลือดเกษตรกรไทยใน 48 จังหวัดล่าสุดในปี 2556 อยู่ในเกณฑ์น่าห่วงพบว่ากว่า 4 ล้านคนมีความเสี่ยงจะป่วย เร่งป้องกันแก้ไขโดยให้ความรู้เกษตรกร และดูแลรักษา โดยตั้งคลินิกดูแลสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกจังหวัดในปีนี้ จำนวน 1,237 แห่ง
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 9 พฤษภาคมปีนี้ เป็นวันพืชมงคล ซึ่งเป็นวันเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลทำนา กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพของเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรจะใช้สารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชจำนวนเพิ่มมากขึ้น และใช้อย่างไม่ถูกวิธี ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ทั้งผู้ใช้และผู้บริโภค และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ในปี 2554 มีการนำเข้าสารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชมากถึง 164 ล้านกว่ากิโลกรัม โดยเฉลี่ยคนไทยที่มีกว่า 64 ล้านคนมีความเสี่ยงได้รับสารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชมากกว่า 2.6 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืช มีผลต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง จากรายงานผลการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ในรอบ 10 ปี ระหว่างปี 2546-2555 มีผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืช 17,340 ราย เฉลี่ยปีละ 1,734 ราย พบมากในกลุ่มเกษตรกร และยังพบในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจเกิดจากการเก็บในที่ไม่ปลอดภัย หรือทิ้งภาชนะบรรจุไม่ถูกวิธี หรือนำภาชนะบรรจุสารกำจัดศัตรูพืชมาล้างแล้วใช้ใส่อาหารหรือน้ำดื่ม เป็นต้น โดยพบผู้ป่วยมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลเพาะปลูก และใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกันมาก
“ประเด็นที่น่าห่วงคือ ผลการตรวจเลือดเกษตรกรในปี 2556 ในพื้นที่ 48 จังหวัด จำนวน 3 แสนกว่าคน พบว่ามีสารป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชตกค้างในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยร้อยละ 30 จึงคาดการณ์ว่าในเกษตรกรทั่วประเทศที่มี 15 ล้านกว่าคน จะมีกว่า 4 ล้านคนที่มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในร่างกายโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพรับจ้างพ่นยาฆ่าแมลงหรือยากำจัดวัชพืช เป็นกลุ่มที่น่าห่วงที่สุด” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข มี 2 มาตรการหลัก คือ 1.การคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภค โดยตรวจเฝ้าระวังสารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชตกค้างในพืชผักผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดทุกประเภท ผลการตรวจในปี 2556 พบสารพิษตกค้างประมาณร้อยละ 3 ผักที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดได้แก่ ผักคะน้า พริกสด ผักกวางตุ้ง ผักบุ้งกะหล่ำปลี แตงกวา เป็นต้น และมาตรการที่ 2 คือการจัดตั้งคลินิกบริการเกษตรกร ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อดูแลส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง เริ่มทดลองรูปแบบในปี 2554 ที่ 3 จังหวัดได้แก่ สุพรรณบุรี บุรีรัมย์และอุทัยธานี ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 18 แห่ง พบว่าได้ผลดี ช่วยให้เกษตรกรมีการป้องกันตัวขณะใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง และบางแห่งได้เปลี่ยนวิธีมาใช้เกษตรอินทรีย์แทน ในปี 2557 ตั้งเป้าตั้งคลินิกดังกล่าวใน 76 จังหวัด รวม 1,237 แห่ง
ทั้งนี้ ในคลินิกดังกล่าวจะมีการตรวจเลือดหาสารเคมีที่ใช้บ่อย ได้แก่ กลุ่มออกาโนฟอสเฟต และคาร์บาเมต ประชาชนสามารถทราบผลความผิดปกติในเลือดของตนเองได้ทันที รายใดที่พบความผิดปกติจะขึ้นทะเบียน และแนะนำให้เว้นการฉีดพ่นสารเคมีอย่างน้อย 7 วัน แล้วเจาะเลือดตรวจซ้ำ ถ้ายังผลตรวจเลือดผิดปกติร่วมกับมีอาการเจ็บป่วยก็จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้มีการรักษาโดยให้ดื่มชาสมุนไพรรางจืด ซึ่งมีมีฤทธิ์ขับสารเคมีที่มีพิษออกจากร่างกาย และหาได้ง่ายในชนบทอยู่แล้ว ให้ดื่มแทนน้ำ และติดตามซ้ำ ควบคู่กับการให้ความรู้เปลี่ยนพฤติกรรม
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ธนาคารโลกและองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุไทยใช้สารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฝรั่งเศส โปตุเกส ถึงเท่าตัว ซึ่งอันตรายจากสารเคมีป้องกัน-กำจัดแมลงศัตรูพืช เกิดได้ทั้งแบบเฉียบพลัน อาการป่วยตั้งแต่เล็กน้อยจนรุนแรงถึงชีวิต ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ความเป็นพิษ และปริมาณที่ได้รับ รวมทั้งการสะสมเรื้อรัง โดยสารพิษจะเข้าสู่ร่างกายทางการสัมผัส การสูดดม หรือปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม ซึ่งสารเคมีป้องกัน-กำจัดศัตรูพืชกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทของแมลง ผลที่มีต่อมนุษย์คือ มีพิษเฉียบพลัน ทำให้เกิดการกระตุ้นปลายประสาทอย่างรุนแรง และเสียชีวิตได้ง่าย อาการอื่นๆที่พบได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน น้ำตาไหล เหงื่อออก หลอดลมเกร็ง หายใจลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก มีเสมหะมาก เป็นต้น ส่วนสารกำจัดวัชพืช (Herbicides) ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ไตวาย ปอดบวม ผื่นคัน ผิวหนังไหม้ ส่วนพิษเรื้อรังอาจมีพังผืดที่ปอด เคยมีรายงานเกิดโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น มือสั่นตลอดเวลาได้ด้วย นอกจากนี้ จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าสารกำจัดศัตรูพืช หลายชนิดมีผลให้เกิดมะเร็ง ได้แก่มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กด้วย
นายแพทย์โสภณกล่าวต่ออีกว่า ในการรณรงค์ให้เกษตรใช้ยาฆ่าแมลงอย่างปลอดภัย ในปีนี้จะเน้นให้เกษตรกรยึดหลักปฏิบัติ คือ อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง ได้แก่ อ่าน คือก่อนใช้ให้อ่านฉลากให้เข้าใจ ใส่ คือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวให้มิดชิดขณะฉีดพ่น ถอด คือหลังจากเสร็จงานแล้วให้ถอดเสื้อผ้าแยกซัก อาบน้ำชำระร่างกาย ให้สะอาด และทิ้ง คือ ทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีให้ถูกวิธี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคผัก ผลไม้ ที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และ
อบรม อสม.ให้ช่วยสอดส่องและแนะนำการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของคลินิกบริการสุขภาพเกษตรกร พบเกษตรกรมีความเสี่ยงสัมผัสสารเคมีขณะการฉีดพ่น โดยมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวยังไม่มากเท่าที่ควร เช่น แว่นตาสำหรับฉีดพ่นสารเคมีโดยเฉพาะ หน้ากากอนามัย เป็นต้น เกษตรกรบางคนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น สูบบุหรี่หลังฉีดพ่นสารเคมี หรือบางรายดื่มเหล้า เพราะเชื่อว่าจะช่วยขับพิษสารเคมีออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง และเสี่ยงได้รับพิษสารเคมีมากขึ้น โดยเฉพาะเหล้า เมื่อดื่มเข้าไปแล้วฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะช่วยกระจายพิษไปทั่วร่างกายได้เร็วขึ้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โทร 0-2590 4292 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 230 views