นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ เห็นต่าง ชี้ “ระบบหลักประกันสุขภาพไทย” เดินผิดทาง ยึดตาม “ตรรกะวิบัติ” จากแนวคิดนักวิชาการต่างชาติ “ค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงกว่าจีดีพี ทำประเทศขาดความยั่งยืน” ส่งผลการบริหารเน้นควบคุมค่าใช้จ่าย ทำประชาชนไม่มั่นใจคุณภาพบริการ พร้อมระบุ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำรักษาพยาบาล ไม่มีทางเป็นจริง เหตุไทยมี 2 ระบบบริการ ภาครัฐและเอกชน แข่งดึงทรัพยากร เตือนประเทศต้องเตรียมจัดระบบบริหารและทรัพยากร รองรับปัญหาสุขภาพจากสังคมผู้สูงอายุ ส่วนทิศทางปฏิรูปทั้งสธ.และสปสช. เป็นจริงยาก เหตุการตัดสินใจยังรวมศูนย์
ในการเสวนา “สู่ภาพอนาคตระบบสุขภาพ 2566” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงทิศทางระบบสุขภาพในอนาคต ว่า จากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรของประเทศไทย แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ชัดเจน แต่ในอนาคตประชากรของประเทศไทยจะลดลงอย่างแน่นอน นับเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตแน่นอน เพราะแม้ขณะนี้โครงสร้างประชากรประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เข้าสู่โครงสร้างประชากรสูงอายุ เนื่องมาจากอัตราการเกิดของประชากรเริ่มลดลง จากเดิมค่าเฉลี่ยผู้หญิง 1 คนจะมีอัตราการเกิดทดแทน 2.1 คน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1.4 คน ไม่เพียงพอต่อการทดแทน เพราะครอบครัวหนึ่งจะมีประชากร 2 คน คือ พ่อและแม่ ซึ่งพูดง่ายๆ คือ ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่ที่มาทดแทนประชากรเพียงแค่ 2 ใน 3 เท่านั้น
จากสถานการณ์ประชากรข้างต้นนี้ ที่ผ่านมาไทยจึงต้องพึ่งแรงงานต่างชาติ แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกไม่ดีต่อแรงงานเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับเป็นกลุ่มคนที่ช่วยในด้านการสร้างเศษรฐกิจ การเกษตร และถือว่าเราเป็นหนี้บุญคุณคนเหล่านี้ และแม้ว่าหลายคนจะบ่นการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน แต่หากเราไม่มีแรงงานต่างชาตินี้ เชื่อว่าค่าแรงที่เป็นอยู่คงจะสูงทะลุ 300 บาทไปนานแล้ว อย่างไรก็ตามจากการเปิดประชาคมอาเซียน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มออกตัวสตาร์ท ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงชัตดาว์น เชื่อว่าเมื่อประเทศเกิดการพัฒนา แรงงานชาติที่ทำงานในบ้านเราคงกลับประเทศ ซึ่งจะทำให้ปัญหาประชากรในประเทศรุนแรงมากขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจรวมไปถึงปัญหาสุขภาพจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการเดินหน้านโยบายสุขภาพด้วย “การสร้างนำซ่อม” แต่เป็นเพียงการชะลอภาวะการป่วยด้วยโรคเรื้อรังให้ช้าออกไป เพราะไม่ว่าอย่างไรผู้สูงอายุที่นับวันจะมีอายุเพิ่มมากขึ้น โรคเรื้อรังเหล่านั้นก็จะมาในที่สุด ดังนั้นจึงอย่าหวังว่าการเดินหน้านโยบายสร้างนำซ่อมจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศลดลงได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมามีนักวิชาการต่างประเทศพูดถึงตรรกะที่ว่า “ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่โตเร็วกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะส่งผลให้ประเทศขาดความยั่งยืน”นั้น ส่วนตัวเห็นว่าเป็น “ตรรกะวิบัติ” อย่างหนึ่ง เพราะเมื่อดูในข้อเท็จจริงแล้ว การที่รายจ่ายด้านใดด้านหนึ่งเพิ่มขึ้นไม่ได้บอกว่าประเทศแย่ลง แต่กำลังบอกว่าประเทศกำลังพัฒนาไปในทางที่ควรจะเป็นมากกว่า
ทั้งตรรกะข้างต้นนี้ได้เข้ามามีบทบาท ส่งผลให้ “ประเทศไทยเดินเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพด้วยแนวคิดที่ผิด” เพราะไปเน้นระบบหลักประกันสุขภาพที่ควบคุมค่าใช้จ่ายและใช้การปฏิรูปการเงินด้านสุขภาพเป็นหัวใจ แต่ในความเป็นจริง ระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ต้องตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้ และระบบหลักประกันสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้นั้น ต้องเป็นระบบที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการได้อย่างมั่นใจ เช่นระบบหลักประกันสุขภาพในยุโรป แม้ว่าจะเป็นระบบที่เข้าถึงบริการได้ยากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยมาก ผ่าตัดแต่ละครั้งต้องรอคิวนาน 6-18 เดือน แต่เมื่อคนยุโรปเข้ารักษาในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐแล้ว จะไม่ห่วงกังวลในเรื่องคุณภาพการรักษาหรือบริการ ว่าจะได้รับการบริการชั้น 2 หรือจะได้รับการรักษาที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ขณะที่คนไทยยังมีคำถามนี้อยู่
“การที่ระบบหลักประกันสุขภาพไทยมาเน้นที่การลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศเรามีการรักษาพยาบาล 2 ระบบ นอกจากจะมีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว ยังมีโรงพยาบาลเอกชนที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับโรงพยาบาลรัฐในการให้บริการ และมีคนไทยยอมจ่ายเพื่อเข้ารับบริการจำนวนมาก แทนที่จะยอมจ่ายเป็นภาษีเข้ารัฐเพื่อทำให้ระบบการรักษาดีขึ้นเช่นเดียวกับในยุโรป โดยต่างเลือกที่จะเก็บเงินไว้ที่ตัวเองแทนจะให้รัฐ และเมื่อถึงเวลาเจ็บป่วย จะได้เลือกโรงพยาบาลและเลือกหมอเพื่อเข้ารักษาเอง ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐก็ปล่อยไปตามมีตามเกิด” ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่า สุดท้ายต้องยอมรับว่า หากเราจะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี ต้องเป็นระบบที่ทุกชนชั้นพร้อมฝากผีฝากไข้ไว้กับระบบนี้ได้ ไม่ใช่พอถึงเวลาเจ็บป่วยก็เดินไปใช้ระบบอื่น
ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัญหาระบบสุขภาพของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นเรื่องพัฒนาระบบในด้านคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน และความต้องการทรัพยากรที่เป็นไปตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ ไม่แต่เฉพาะงบประมาณ แต่รวมถึงทรัพยากรด้านการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาจากการที่มี 2 ระบบรักษาพยาบาล คือ ภาครัฐและเอกชน ทำให้ภาครัฐต้องแข่งขันเพื่อดึงบุคลากรให้อยู่ในระบบ ไม่แต่เฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาคนในประเทศ แต่ต้องแข่งกับโรงพยาบาลเอกชนที่รักษาชาวต่างชาติ เป็นกำลังซื้อจากต่างประเทศ และที่ผ่านมานโยบายเพื่อแก้ไขปัญหานี้ก็ไม่ชัดเจน
“บางประเทศในยุโรป อย่างแคนนาดา อังกฤษ จะถกเถียงกันว่า จะยอมให้ประเทศมีระบบรักษาพยาบาลที่เป็นเอกชนเกิดขึ้นและให้ประชาชนมีสิทธิเลือกรับบริการได้หรือไม่ เพราะประเทศเหล่านี้ต่างตระหนักดีกว่า หากยอมให้มี 2 ระบบรักษาพยาบาลในประเทศ ทรัพยากรที่มีจะถูกถ่ายเทด้วยกำลังเงินไปยังเอกชน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา” ดร.วิโรจน์ กล่าวและว่า ระบบสุขภาพประชากรในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่ และด้วยคุณภาพประชากรในอนาคต ทำให้เราต้องทุ่มเททรัพยากรมากขึ้น รวมถึงต้องมีระบบการจัดการ เพราะหากยังปล่อยให้เกิดการแข่งขัน มีการใช้เงินในการเดินหน้าระบบสุขภาพ กำลังซื้อเหล่านั้นจะทำให้เกิดการแย่งทรัพยากร และเกิดความไม่เป็นธรรมในระบบเช่นเดิม
ส่วนการปฏิรูประบบสุขภาพซึ่งมีการพูดถึงแนวทางการกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมนั้น ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ ประเทศไทยมีองค์กรใหญ่ด้านสุขภาพที่พูดถึงแนวคิดการกระจายอำนาจ แต่องค์กรใหญ่เหล่านั้น อย่างกระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการตัดสินใจในการดำเนินงานล้วนแต่เป็นการรวมศูนย์ทั้งสิ้น อีกทั้งงบประมาณที่โอนไปยังเขตบริการต่างๆ เพื่อบริหารก็น้อยมาก เนื่องจากตามนโยบาย ส่วนกลางไม่ได้ให้ทำอะไรมากมาย ประกอบกับเมื่อมีการพูดเรื่องกระจายอำนาจ เพื่อให้โรงพยาบาลไปอยู่ภายใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คนในวงการสุขภาพต่างรับไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าต้องอยู่ภายใต้ อบจ. หรือ อบต. อยู่ภายใต้คนไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ
“หมอจะรู้สึกว่าตัวเองมีความรู้ด้านสุขภาพมากกว่าคนอื่น และประเทศเราก็ยอมรับว่า คนเป็นหมอเป็นหัวกะทิของประเทศ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หมอจะรู้หมดทุกเรื่อง อย่างเรื่องสุขภาพบางครั้งหมอก็ไม่ได้รู้ทั้งหมด การที่ไม่รู้และพยายามใช้ฐานะความเป็นหมอเผยแพร่ความคิด อาจนำตรรกะวิบัติมาสู่สังคม เช่นเดียวกับแนวคิดตรรกะที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสุขภาพที่โตกว่าจีดีพีจะทำให้ประเทศพังพินาศ ถือว่าอันตราย” ดร.วิโรจน์ กล่าว
- 72 views