อย. จ่อเริ่มจดแจ้งเครื่องสำอางควบคุมทางเน็ต ยื่นปุ๊บได้ปั๊บ ตลอด 24 ชั่วโมง หากข้อมูลถูกต้อง ดีเดย์กลุ่มอาสาสมัครทดลองใช้ 28 เม.ย. พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกรมศุลกากรนำเข้าผลิตภัณฑ์นม ต้องขอ License per Invoice เริ่ม 1 พ.ค.
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้ปรับลดขั้นตอนการรับจดแจ้งเครื่องสำอางควบคุม โดยพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถรับจดแจ้งเครื่องสำอางได้โดยอัตโนมัติ ข้อดีคือ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอจดแจ้งเครื่องสำอางได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำกัดจำนวน ประมวลผลทันทีด้วยมาตรฐานเดียวกัน จากเดิมที่เจ้าหน้าที่จะพิจารณารายละเอียดทั้งหมด ตั้งแต่คำที่ใช้เป็นชื่อการค้า/ชื่อเครื่องสำอาง ประเภท ตลอดจนสารที่ใช้เป็นส่วนผสม ว่ามีความสอดคล้องกัน และไม่ขัดกับกฎหมาย จึงจะออกใบรับแจ้งให้ ซึ่งจะใช้เวลา 3 วันทำการ แต่เมื่อใช้ระบบรับจดแจ้งอัตโนมัติ หากผู้ประกอบการส่งรายละเอียดคำขอจดแจ้งเข้ามาได้ครบถ้วน ระบบจะประมวลผล และรับแจ้งโดยอัตโนมัติ ได้รับใบรับแจ้งทันที
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ระบบจะสามารถคัดกรองรายละเอียดได้ระดับหนึ่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งรายละเอียดด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ตามคำแนะนำในคู่มือที่ อย. กำหนด เพราะหากผู้ประกอบการแจ้งรายละเอียดไม่ถูกต้อง หรือไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป เช่น ถ้าชื่อประเทศผู้ผลิตที่ระบุในใบรับแจ้งไม่ตรงกับข้อมูลที่ฉลาก จะไม่สามารถผ่านพิธีการทางศุลกากรเพื่อนำเข้า เป็นต้น กรณีที่ผู้ประกอบการตรวจสอบพบว่าข้อมูลที่แจ้งไว้ไม่ถูกต้อง หรือประสงค์จะปรับสูตรของผลิตภัณฑ์โดยยังคงใช้ชื่อเดิม สามารถทำได้ด้วยการทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกใบรับแจ้งเดิมและยื่นคำขอจดแจ้งใหม่
“อย. จะเริ่มให้กลุ่มอาสาสมัครทดลองใช้ระบบ ในวันที่ 28 เม.ย. เพื่อตรวจสอบความพร้อมของระบบ และจะได้พัฒนาให้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการทุกรายในเร็วๆ นี้” รองเลขาธิการ อย.กล่าว
ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า นอกจากนี้ อย.ได้เชื่อมโยงข้อมูลการตรวจสอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านระบบ National Single Window (NSW) ร่วมกับกรมศุลกากร ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการอนุญาตระหว่าง อย. กับ กรมศุลกากร โดยผู้ประกอบการนำเข้าจะต้องยื่นคำขอแจ้งรายละเอียดก่อนการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (License per Invoice) กับ อย. จึงจะดำเนินพิธีการทางศุลกากรได้ โดยเริ่มระบบวันที่ 1 พ.ค. สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ทุกประเภทจะให้แล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2557
“License per invoice ไม่ใช่ใบอนุญาตทะเบียนตำรับ หรือใบรับแจ้งรายละเอียดตามกฎหมาย แต่เป็นการอนุญาตในการนำเข้าแต่ละครั้ง ถึงแม้ผู้นำเข้าจะได้รับ License per Invoice ไปแล้ว แต่ในขั้นตอนการนำเข้า สำนักด่านอาหารและยา อย. ทุกด่าน ยังคงดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค” เลขาธิการ อย. กล่าว
- 7 views