สธ. จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปี 2557 ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำนวน 3 ล้าน 4 แสนคนฟรี เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตในช่วงฤดูกาลระบาดคือฤดูฝน ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยและประชาชน 4 กลุ่ม เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะเร่งฉีดให้ครบทุกคนภายใน 31 กรกฎาคม 2557 มีผลป้องกันเชื้อได้ 3 สายพันธุ์ ย้ำเตือนประชาชนให้ร่วมมือกันสร้างภูมิต้านทานโรค โดยออกกำลังกาย หมั่นล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ เพื่อตัดวงจรเชื้อ คาดการณ์ปีนี้จำนวนป่วยโรคไข้หวัดใหญ่อาจพุ่งกว่า 1 แสนรายใกล้เคียงกับปี 2553
วันนี้ (28 เมษายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการโครงการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่ม รวม 3 ล้าน 4 แสนโด๊สฟรี ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงสัมผัสโรคขณะดูแลผู้เจ็บป่วยจำนวน 4 แสนคน และกลุ่มประชาชน 4 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเมื่อป่วยแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี และกลุ่มผู้ป่วยทุกอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัดรวม 3 ล้านคน ซึ่งปีนี้ได้รณรงค์ฉีดให้เร็วขึ้น เริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป เพื่อให้มีผลทันต่อการป้องกันก่อนจะเข้าสู่ฤดูกาลระบาดใหญ่ของโรค คือฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม -กันยายน เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้วัคซีนป้องกันโรคนี้ให้แก่ประชาชนในวงกว้าง
วัคซีนที่ฉีดครั้งนี้ เป็นวัคซีนรวมทำจากเชื้อตาย มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นเชื้อที่ระบาดหลักในไทยขณะนี้ สายพันธุ์เอช 3 เอ็น 2 (H3N2) และสายพันธุ์บี (B) หลังฉีดจะกระตุ้นร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อภายใน 15 วัน โดยจะเร่งฉีดให้ครบภายใน 31 กรกฎาคม 2557 มีผลป้องกันได้ 1 ปี ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากต้องการฉีดวัคซีนสามารถรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่โรงพยาบาลกำหนด
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางระบบความพร้อมในการจัดบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว ก่อนฉีดเจ้าหน้าที่จะซักประวัติ ตรวจคัดกรองก่อนทุกราย และให้ความรู้ก่อนการฉีดวัคซีน ในรายที่มีโรคประจำตัว แพทย์จะตรวจความพร้อมร่างกายก่อน และมีระบบติดตามอาการภายหลังฉีด ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด เช่น ปวดบวมที่บริเวณฉีด อ่อนเพลีย มักเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง และหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน ผลการฉีดในปีที่ผ่านมา ได้ฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 97 และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 120 ไม่พบรายใดเกิดผลข้างเคียงรุนแรง โดยใช้วัคซีนที่เตรียมไว้ได้ถึงร้อยละ 99 จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องฉีดวัคซีน ติดต่อรับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัดและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน
ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้ มีผลป้องกันเฉพาะเชื้อไวรัส 3 สายพันธุ์ ไม่ได้ป้องกันไข้หวัดจากสายพันธุ์อื่น ดังนั้นประชาชนยังอาจป่วยเป็นไข้หวัดได้ แต่อาการจะไม่รุนแรง โดยจากผลการศึกษาวิจัยคาดว่าจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศแต่ละปีจะมีประมาณ700,000-900,000 ราย ในจำนวนนี้จะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่นปอดบวม ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลประมาณร้อยละ 1-2 หรือปีละประมาณ 12,575-75,803 ราย อัตราตายในกลุ่มนี้มีประมาณร้อยละ 2.5 ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่า 913-2,453 ล้านบาท
ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ของไทยในปี 2557 นี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเพียงแค่ 4 เดือนแรกของปีพบประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ป่วยตลอดปี 2556 คาดการณ์จำนวนอาจจะใกล้เคียงกับปี 2553 ซึ่งมีผู้ป่วย 115,183 ราย เนื่องจากเกิดจากเชื้อสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 เหมือนกัน
จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ช่วยกันลดปัญหาการเจ็บป่วยจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โดยการสร้างสุขภาพตนเอง คือหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน ให้กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ เพื่อตัดวงจรเชื้อโรค เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดคือมีอาการไข้ ไอ จาม ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีน้ำมูก ให้หยุดพักที่บ้านและใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อแพร่สู่คนอื่น หากอาการป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
- 9 views