ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา “โรงพยาบาลชุมชนประจำเภอ” และ “สถานีอนามัย” (ปัจจุบันเปลื่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล : รพ.สต.) นับเป็นกลไกสำคัญของการกระจายระบบบริการรักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนเข้าถึงรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง โดยในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี 2475 เป็น “ระบอบประชาธิปไตย” การจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยอยู่ในช่วงก้าวกระโดด ตามแนวคิด “รัฐเวชกรรม” ที่เป็นนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รวมถึงการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน โดยถือเป็นหน้าที่ของรัฐ
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เล่าย้อนรอยต่อเนื่องถึงการผลักดันจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอและสถานีอนามัย ว่า หลังรัฐบาลผลักดัน “โครงการสร้างโรงพยาบาลในทุกจังหวัด” ภายใต้ “โครงการอนามัยหัวเมือง” ได้สำเร็จก่อนปี 2500 จึงได้เดินหน้าขยายการบริการสาธารณสุขลงไปในชุมชน โดยเฉพาะในชนบทและพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นไปตามแนวคิดรัฐเวชกรรม โดยหน่วยบริการที่จัดตั้งนี้ เรียกว่า “โอสถสภา” ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” ในภายหลัง
ทั้งนี้สุขศาลาที่จัดตั้งขึ้นนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โดยสุขศาลาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีชาวบ้านอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นจะมีการส่งแพทย์ลงไปประจำเพื่อให้บริการ ซึ่งสุขศาลาประเภทนี้เรียกว่า “สุขศาลาชั้น 1” ส่วนสุขศาลาที่ไม่มีแพทย์ประจำ เรียกว่า “สุขศาลาชั้น 2”
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เล่าต่อว่า ต่อมาหลังการสถาปนากระทรวงสาธารณสุขปี 2485 รัฐบาลได้มีนโยบายนำ “สุขศาลาชั้น 1” ที่มีอยู่ในขณะนั้นมายกระดับเป็น “โรงพยาบาลประจำจังหวัด” และหลังจากนั้นในปี 2491 รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายให้จัดสร้างสุขศาลาชั้น 2 ขึ้นตามชนบท เพื่อให้เป็นสถานพยาบาล “ประจำตำบล” โดยกำหนดให้จัดสร้างขึ้นปีละ 100 แห่ง “จนกว่าจะครบทุกตำบล” โดยการจะสร้างให้ลำดับตามความสำคัญก่อนและหลัง ซึ่งขณะนั้นมีสุขศาลาชั้น 1 และชั้น 2 ทั่วราชอาณาจักรรวม 563 แห่ง
นอกจากการเดินหน้าจัดตั้งสุขศาลาให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศแล้ว ยังมีการจัดทำ “โครงการอบรมนักเรียนสุขาภิบาล” หรือ “โรงเรียนสุขาภิบาล” ควบคู่เพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากรสาธารณสุขเพื่อรองรับการขยายการจัดตั้งสุขศาลาชั้น 2 ประจำตำบลให้ครบทุกตำบล ซึ่งต่อมาในปี 2497ได้มีการเปลี่ยนชื่อสุขศาลาเป็น “สถานีอนามัย”
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้มีการจัดตั้งสถานีอนามัยเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลขณะนั้นจึงได้ประกาศให้ยกฐานะ “สำนักงานผดุงครรภ์” ซึ่งขณะนั้นมีอยู่จำนวน 1,031 แห่ง ให้เป็นสถานีอนามัย ส่งผลให้มีจำนวนสถานอนามัยเพิ่มมากขึ้นในปีดังกล่าว อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ สาเหตุการจัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์นั้น เป็นความพยายามของภาครัฐที่จะดูแลสุขภาพของมารดา การตั้งครรภ์ และการให้กำเนิดทารกได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อให้มีการเพิ่มจำนวนประชากรในการพัฒนาประเทศ จึงมีนโยบายเร่งผลิตบุคลากรซึ่งทำหน้าที่ผดุงครรภ์ และส่งไปตามท้องถิ่นต่างๆ ตั้งแต่ปี 2474 โดยกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดตั้ง “โรงเรียนอบรมผดุงครรภ์ชั้นสอง” ขึ้นในวชิรพยาบาล นับเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรกของประเทศไทย รับนักเรียนปีละ 20 คน ระยะเวลาศึกษา 1 ปี และเมื่อจบแล้วจะได้ประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ชั้น 2
นักเรียนผดุงครรภ์เหล่านี้จะคัดเลือกมาจากอำเภอต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว จะส่งกลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อดูแลการคลอดบุตร และทำงานด้านมารดาทารกสงเคราะห์ ตลอดจนงานสาธารณสุขอื่นๆที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคต่าง เช่น การปลูกฝี เป็นต้น และแม้ว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การอบรมนักเรียนผดุงครรภ์ดังกล่าวต้องชะงักไปช่วงหนึ่ง แต่พอถึง “ยุคสร้างชาติ” ในปี 2482 ได้มีการอบรมนักเรียนผดุงครรภ์ชั้น 2 ต่อเนื่อง และส่งไปอยู่ในตำบลที่ยังไม่มีการสร้างสถานีอนามัย โดยให้ตั้งเป็น “สำนักงานนางผดุงครรภ์ชั้นสอง” ที่บ้านของกำนันในตำบลนั้นๆ
“ในทศวรรษ 2490 - 2500 ด้วยรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อการขยายระบบสาธารณสุขให้ทั่วถึง จึงมีนโยบายส่งเสริมการสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน โดยมีนโยบายจูงใจให้ผู้บริจาคที่ดินและทรัพย์สินเพื่อสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ สามารถส่งลูกหลานมาเข้าเรียนผดุงครรภ์ได้เพื่อกลับไปประจำที่สำนักงานผดุงครรภ์แห่งนั้น พอสิ้นสุดปี 2509 มีสถานีอนามัยชั้น1 จำนวน 217 แห่ง สถานีอนามัยชั้น 2 จำนวน 882 แห่ง และสำนักงานผดุงครรภ์ 1,403 แห่ง และอีกห้าปีต่อมาเมื่อสิ้นสุด พ.ศ. 2514 หรือสิ้นสุดช่วงเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 มีสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง 290 แห่ง ชั้นสอง 1,936 แห่ง และสำนักงานผดุงครรภ์ 2,003 แห่ง และ เมื่อปี 2515 สถานีอนามัยชั้น 2 ได้เปลี่ยนเป็น “สถานีอนามัย” สถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ได้รับการยกระดับศูนย์การแพทย์และอนามัยและโรงพยาบาลอำเภอ
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลขณะนั้นจะได้ดำเนินการขยายระบบสาธารณสุขลงสู่ชุมชนอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอและสถานีอนามัยประจำตำบล รวมถึงสำนักงานผดุงครรภ์ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งเพิ่มเติมในภายหลัง แต่จนถึงปี 2525 การกระจายบริการทางการแพทย์ออกสู่ชนบทก็ยังทำได้ไม่ทั่วถึง โดยในปี 2525 ยังมีโรงพยาบาลประจำอำเภอเพียง 336 แห่ง หรือร้อยละ 51 ของจำนวนอำเภอทั้งหมด สถานีอนามัยร้อยละ 82 ของจำนวนตำบลทั้งหมด และสำนักงานผดุงครรภ์เพียงร้อยละ 4.5 ของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดเท่านั้น
ด้วยเหตุดังกล่าว ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 ที่เริ่มใช้ใน พ.ศ. 2525 จึงวางเป้าหมายจัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนระดับอำเภอให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งมีการก่อสร้างใหม่จำนวน 252 แห่ง และยกฐานะโรงพยาบาลชุมชนเดิมอีก 75 แห่ง รวมทั้งจัดตั้งสถานีอนามัยระดับตำบลให้ครบทุกตำบล มีการยกฐานะจากสำนักงานผดุงครรภ์ที่มีอยู่เดิม 1,031 แห่งและก่อสร้างเพิ่มใหม่อีก 1,000 แห่ง” อาจารย์ภาควิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าว และว่า จากผลจากการเร่งรัดดำเนินการงานพัฒนาสาธารณสุขนี้ ทำให้เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ในปี 2529 มีโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลสาขา คิดเป็นร้อยละ 92 ของอำเภอ/กิ่งอำเภอทั้งหมด และมีสถานีอนามัยครบในทุกตำบลทั่วประเทศ
- 1398 views