เมื่อครั้งการระบาดของกาฬโรคในอดีต กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทยได้มีการเตรียมรับมือไว้ โดยตั้ง “กรมป้องกันโรคร้าย” ขึ้นในสังกัดกระทรวงนครบาลสำหรับการป้องกันการระบาดของกาฬโรคโดยเฉพาะ ในที่สุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ก็ตรวจพบผู้ป่วยด้วยกาฬโรคเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ ที่ตำบลตึกแดง ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามรายงานของแพทย์กรมศุขาภิบาลกับรายงานของแพทย์กรมพยาบาล
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2447 มีรายงานข่าวการตรวจพบ ชาวอินเดียซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่ตึกแขกหมู่ตึกแดงซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ป่วยและตายจากโรคที่น่าสงสัยว่าจะเป็นกาฬโรค และภายหลังจากที่นายแพทย์แคมเบล ไฮเอต พนักงานแพทย์กรมศุขาภิบาลได้เข้าไปสอบถามติดตามเรื่องราว จนสงสัยว่าน่าจะเป็นกาฬโรค เพราะภายในเวลา 3 วัน มีผู้ตายถึง 5 คน และบางคนก็มีอาการคล้ายเป็นกาฬโรค เขาจึงได้เสนอให้รัฐเร่งหาทางป้องกันการแพร่ระบาดของกาฬโรคในทันที โดยเสนอให้
1) ตั้งโรงพยาบาลกาฬโรคเพื่อแยกคนไข้กาฬโรคให้อยู่ต่างหากในทันที
2) ตั้งกองเจ้าพนักงานและคนงานสำหรับจัดการเฉพาะเรื่องไข้กาฬโรค
3) ขออนุญาตตั้งตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์ศุขาภิบาลนายหนึ่ง และให้โทรเลขเรียกเข้ามาในทันที เพราะแพทย์ศุขาภิบาลเพียงคนเดียวทำงานไม่ทัน
4) ขอให้มีพระราชบัญญัติบังคับให้จดทะเบียนคนตายในทันที
5) ขอให้มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับใช้ป้องกันกาฬโรคนี้
นอกจากนี้ ไฮเอตยังได้ติดต่อขอให้กลสุลอังกฤษและกงสุลต่างๆ ออกใบอนุญาติยินยอมให้แพทย์กรมศุขาภิบาลมีอำนาจบังคับคนในบังคับของอังกฤษ พร้อมทั้งขออนุญาติสั่งซื้อซีรัมในจำนวนที่เพียงพอสำหรับป้องกันกาฬโรคจากเมืองบอมเบ และขอให้มีคำสั่งแก่กรมกองตระเวนให้คอยรายงานสาเหตุการตายที่น่าสงสัยว่าจะเป็นกาฬโรค
การปรากฎตัวขึ้นในกรุงเทพฯ ของเชื้อกาฬโรคมีผลทำให้เกิดความตื่นตระหนกกันพอสมควร ดังที่หนังสือพิมพ์ “สยามออบเซอร์เวอร์” เขียนถึงเรื่องนี้ในภายหลังเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2448 ว่า
“กาฬโรคเมื่อแรกเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ดูตื่นกันวุ่นวาย กลัวจนขนลุกขนพองไปตามกัน”
ภาพความวุ่นวายนี้อาจจะเห็นได้จากความพยายามในการหามาตรการต่างๆเพื่อรับมือกับศัตรูที่มองไม่เห็น กล่าวคือ ภายในเวลา 2 วันที่รับรู้ข้อมูล พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ได้ดำเนินการจัดให้แพทย์ในกรุงเทพฯ ช่วยกันรับหน้าที่คอยตรวจระวังป้องกันกาฬโรค โดยมีการแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบเป็นเขต คือ
1) หมอเดอร์ไกเชอร์ รับผิดชอบตรวจในแขวงพระนคร และอำเภอดุสิต
2) หมอเฮ รับผิดชอบตรวจในอำเภอสำเพ็ง
3) หมอบัว รับผิดชอบตรวจในอำเภอบางรัก
4) หมอทรัมป์ รับผิดชอบตรวจในอำเภอบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และบางน้ำชล
และ 5) หมอไบเยอร์ รับผิดชอบตรวจเรือที่อยู่ในท้องน้ำ
อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 2 เดือน ที่กาฬโรคเริ่มเปิดฉากโจมตีกรุงเทพฯ และดูเหมือนว่าการระบาดจะไม่สามารถควบคุมให้อยู่เฉพาะในบริเวณเดียวที่ค้นพบผู้ป่วยครั้งแรกได้ เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดเข้าไปในตำบลสำเพ็งและโรงเรียนราชินี
กรมศุขาภิบาลจึงออกประกาศเตือนประชาชนเกี่ยวกับการระบาดของกาฬโรคในกรุงเทพฯ ตลอดจนคำแนะนำในการป้องกันและรักษากาฬโรค แต่ด้วยความตื่นตระหนก และหวาดกลัวโรคระบาด ในที่สุดจึงได้ออกเป็น “ประกาศจัดการป้องกันกาฬโรค” ขึ้น โดยเล่าถึงการแพร่ระบาดของกาฬโรคในพื้นที่ต่างๆ และอธิบายว่ากาฬโรคนั้นเป็นโรคที่มี “ตัวสัตว์เกิดจากของโสโครก” โดยมีหนูเป็นสัตว์ต้นเหตุที่นำตัวโรคนี้ไปจากตำบลหนึ่งถึงอีกตำบลหนึ่งได้ และยังได้อธิบายถึงมาตรการต่างๆที่กรมศุขาภิบาลจัดการป้องกัน กล่าวคือ
1) ตั้งโรงพยาบาลสำหรับพยาบาลคนเป็นกาฬโรค โดยโรงพยาบาลนี้ให้มีแพทย์ไทย และพนักงานสำหรับพยาบาลคนไข้อยู่ประจำ
2) ในโรงพยาบาลแบ่งเป็น 2 แผนก คือ แผนกสำหรับคนที่ป่วยไข้กาฬโรค และแผนกสำหรับคนที่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเป็นกาฬโรค
3) ถ้าญาติพี่น้องต้องการจะเข้าไปดูแลพยาบาลผู้ป่วยกาฬโรคก็ทำได้ แต่จะไปจากโรงพยาบาลไม่ได้จนกว่าแพทย์จะตรวจว่าไม่ติดต่อกันแล้ว
4) ให้มีแพทย์ประจำท้องที่เพื่อตรวจคนไข้ที่น่าสงสัยว่าเป็นกาฬโรค
5) ให้มีกองเจ้าพนักงานสำหรับชำระล้างบ้านเรือนตำบลที่เกิดไข้กาฬโรค
6) ให้แพทย์ศุขาภิบาลเรียบเรียงอาการของไข้กาฬโรค และคำแนะนำในการปฏิบัติเพื่อป้องกันกาฬโรค
แม้จะมีความพยายามป้องกันการระบาดของกาฬโรคในกรุงเทพฯ มากเพียงใด แต่ในระยะเวลาเพียง 2 เดือนก็พบรายงานการระบาดของกาฬโรคออกไปตามหัวเมืองต่างๆ ถึง 6 หัวเมือง เช่น พระปฐมเจดีย์ และเพชรบุรี แต่กระทรวงมหาดไทยไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอสำหรับการรับมือ ทำให้การระบาดของโรคยังคงเกิดขึ้น ต่อมาในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2449 จึงได้จัดให้มีการรักษาป้องกันและจัดการโรงพยาบาลกาฬโรคตามหัวเมืองขึ้น รวมถึงการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และป้องกันโรคสำหรับประชาชน
เก็บความจาก
ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2550, หน้า 83-101.
- 115 views