ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคร้ายแรงในสยาม ตอนที่ 2 กักคนจากจีน-ฮ่องกงบนเกาะร้าง 9 วัน ป้องกันกาฬโรคระบาดเข้าสู่สยาม

สมัยรัชกาลที่ 5 ราวพ.ศ.2437 เกิดการระบาดของ “กาฬโรค” ตามเมืองท่าของประเทศจีนและเกาะฮ่องกง เส้นทางการระบาดเคลื่อนตัวไปยังอินเดียแอฟริกา รัสเซีย ยุโรป สิงคโปร์ ไทย และออสเตรเลีย ซึ่งวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการป้องกันกาฬโรคระบาดเข้าสยามคือการบังคับให้เรือที่มาจากดินแดนเกิดกาฬโรคและใกล้เคียง ต้องจอดให้เจ้าหน้าที่ตรวจโรคทุกคนบนเรือเสียก่อนรัฐบาลจึงตั้งด่านตรวจโรคขึ้นที่ “เกาะไผ่” (ปัจจุบันอยู่ห่างจากเมืองพัทยาราว 9 กิโลเมตร) โดยมีพระบำบัดสรรพโรค หรือ หมออะดัมสัน เป็นนายแพทย์ประจำด่าน

พระบำบัดสรรพโรคหรือหมอฮันส์ อะดัมสัน (Hans Adamsen) เป็นลูกครึ่งเดนมาร์ค-มอญ เกิดเมื่อ พ.ศ.2400 ที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สันสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์ประจำด่านตรวจโรคที่เกาะไผ่ เมื่อ พ.ศ.2441 นับเป็นครั้งแรกที่มีการป้องกันโรคติดต่อ เช่น กาฬโรค จากต่างประเทศไม่ให้แพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทย และถือว่าเขาเป็นแพทย์ประจำด่านตรวจโรคคนแรกในประเทศไทย

ในเวลานั้น หมอฮันส์ ออกประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2441 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การบังคับเรือที่มาจากเกาะฮ่องกงให้จอดที่เกาะไผ่จนกว่าจะครบ 9 วัน ต่อเมื่อมีการตรวจโรคทุกคนและออกใบรับรองว่าไม่มีใครเป็นกาฬโรค จึงจะอนุญาตให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ และบังคับให้เรือจากเมืองท่าในประเทศจีนต้องจอดเพื่อตรวจโรคทุกคนบนเรือก่อนโดยที่กรณีหลังจะไม่มีการกักเรือไว้ ด่านตรวจโรคที่ “เกาะไผ่” ดำเนินงานไป 2 ปี ก็ย้ายมาตั้งที่ฝั่งตรงข้ามกับสถานศุลกากรเมืองสมุทรปราการ แล้วจึงย้ายไปตั้งที่ “เกาะพระ”อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี (ปัจจุบันเป็นหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ในความดูแลของฐานทัพเรือสัตหีบ) ด้วยเหตุผลเรื่องความคล่องตัวในการทำงาน โดยที่บทบาทขณะนั้น เป็นการตรวจเรือเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น และเลิกตรวจเมื่อเหตุการณ์สงบลง

กว่าที่การระบาดของ “กาฬโรค” ครั้งนั้นจะหมดไป ต้องผ่านเวลามาหลายสิบปี โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้ายที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ.2495 และจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่พบอีกเลยการเกิดขึ้นของ “เกาะไผ่” นับเป็นจุดกำเนิดของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนที่บทบาทของด่านฯ จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละยุคสมัย ที่การสัญจรข้ามประเทศมีรูปแบบหลากหลายกว่าในอดีต

ภาพเกาะไผ่ (Xufanc From Wikimedia Commons, public domain) และภาพหมอฮันส์ อะดัมสัน (Hans Adamsen, ในภาพเล็ก)

เก็บความและภาพจาก

ขวัญชาย ดำรงขวัญ. (2559).UNSEEN กรมควบคุมโรค เส้นทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ. นนทบุรี: สถาบันวิจัย จัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพน์ บรรณาธิการ. ปกิณกคดี 100 ปี การสาธารณสุขไทย. หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข, พ.ศ. 2561.

ตอนที่ 1 ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคร้ายแรงในสยาม กาฬโรคและอหิวาตกโรค

ตอนที่ 3 กำเนิดโรงพยาบาลโรคติดต่อ ปราการรับมือโรคระบาดในสยาม