ยุงเริ่มได้รับการกล่าวถึงในรายงานประจำปีของแพทย์สุขาภิบาล รศ.122 หรือ พ.ศ.2446 โดยนายแพทย์แคมเบล ไฮเอต นำเสนอต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2446 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่เกี่ยวกับสภาพการณ์ของการเกิดโรคระบาดในสยาม
ไฮเอตกล่าวถึงคนไข้มาลาเรียรายหนึ่งจากมวกเหล็กซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ โรคมาลาเรียในสยามนั้น ไฮเอตรายงานว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ
1) The simple Tertian ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปและไม่ร้ายแรง สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาควินิน
และ 2) The real tropical Malaria ซึ่งรักษาได้ยากมากและส่วนมากมักจะเสียชีวิต
ในจำนวนคนไข้ 1,750 คน ที่รับเข้ามาในโรงพยาบาลตำรวจนั้น มีเพียง 31 รายเท่านั้นที่เป็นไข้มาลาเรีย ซึ่งโดยมากมาจากหัวเมืองหรือจากเส้นทางรถไฟ และในจำนวน 31 รายนี้มี 20 รายเป็นชนิด The simple Tertian มีพียง 11 รายเท่านั้นที่เป็นชนิด The real tropical Malaria ส่วนเหตุผลที่มีมาลาเรียน้อยก็เพราะว่ามีชนิดของยุงที่เป็นพาหะของเชื้อมาลาเรียอยู่ค่อนข้างน้อยในสยาม
หลังจากนั้น ไฮเอตได้จำแนกยุงออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) Culex และ 2) Anopheles ยุงแบบแรก คือยุงที่อยู่ตามบ้านทั่วไปและไม่เป็นอันตรายแก่มนุษย์ในแง่ที่เป็นพาหะของเชื้อมาลาเรีย ส่วนยุงแบบที่สองคือชนิดที่พบตามทุ่งนาป่าเขา ซึ่งเป็นยุงประเภทที่เชื้อมาลาเรียจะอาศัยอยู่ในระยะเวลาช่วงหนึ่งของวงจรชีวิต
นอกจากนี้ เขายังได้เก็บตัวอย่างลูกน้ำจาก 43 แห่งในกรุงเทพฯ และตรวจสอบพบว่าลูกน้ำทั้งหมดเป็นลูกน้ำของยุงแบบ Culex
อย่างไรก็ตาม ไฮเอตเสนอให้มีการกำจัดยุงในกรุงเทพฯ ด้วยการนำน้ำมันขี้โล้ไปใส่ตามแอ่งน้ำเพื่อฆ่าลูกน้ำ และประกาศให้ประชาชนทำลายเศษถ้วยชาม กระป๋อง หรือสิ่งที่จะทำให้น้ำขังเพื่อไม่ให้ยุงสามารถวางไข่ได้
อย่างไรก็ตาม ยุงถูกให้ความสำคัญและนำไปปรากฎตัวต่อสายตาของรัฐไทยในปลายปี พ.ศ. 2469 เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องทูตอิตาลีชวนสยามเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ “สำนักระวางประเทศสำหรับการว่าด้วยเรื่องไข้มาลาเรีย” (Internatioal Malariaologic Institute) ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้นที่กรุงโรม
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงท้ายในจดหมายว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลสยามจะเข้าร่วมมือด้วย และจะได้รับประโยชน์จากการนี้มาก เพราะการกำจัดโรคนี้ของรัฐบาลสยามยังล้าหลังอยู่” พร้อมกับถวายเอกสารสาธารณสุขเรื่อง “ปัญหาเรื่องยุง” มาด้วย
นับแต่นั้น ปัญหาเรื่องยุงได้ส่งผลให้รัฐบาลมีนโยบายและหามาตรการในการจัดการ โดยยุงในสยามได้ถูกจำแนกออกเป็น 2 จำพวกเหมือนกับที่นายแพทย์แคมเบล ไฮเอตเคยรายงานเมื่อ พ.ศ. 2446 คือ 1) ยุงบ้าน และ 2) ยุงเถื่อน แต่ในการอธิบายได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดขึ้นอีก กล่าวคือ ยุงบ้านถูกแบ่งออกเป็นอีก 2 ชนิด คือ ยุงบ้านสีเทาธรรมดา ซึ่งเป็นยุงที่ชุกชุมกว่าชนิดอื่นๆ มักเกิดในที่น้ำขังอยู่นิ่งๆ เช่น ท้องร่อง บ่อ รางระบายน้ำ รางน้ำฝน โอ่ง เป็นต้น และอีกชนิดคือ ยุ่งด่างหรือยุงเสือ มีลักษณะตัวลายขาวผ่านดำอย่างฉูดฉาด และเป็นยุงที่มีอยู่ตามชายทะเล ซึ่งเป็นพาหะของไข้เหลือง แม้ว่าไข้เหลืองจะยังไม่ปรากฎในสยาม แต่ยุงชนิดนี้มีจำนวนมาก
สำหรับยุงเถื่อน หรือยุ่งป่า หรือที่รู้จักกันในนาม “ยุงก้นปล่อง” เป็นพาหะของเชื้อโรคไข้จับสั่นหรือไข้ป่า/ไข้ป้าง ปีกของยุงก้นปล่องจะเป็นจุดๆ เวลาเกาะก้นมันจะชี้ขึ้นข้างบนซึ่งจะต่างจากยุงบ้าน ยุงก้นปล่องมักเกิดตามห้วยที่น้ำไหลช้าๆ และมีหญ้าขึ้นรก ตามหนอง ริมคลอง หรือตามสระที่มีร่มเงาและหญ้ารก เป็นต้น
ที่สำคัญกว่านั้น ในรายงานเกี่ยวกับยุงเขียนไว้ว่า ยุงไม่ได้เป็นแค่พาหะของโรคมาลาเรียเท่านั้นแต่ยังเป็นพาหะของโรคที่สำคัญถึง 4 ชนิด ได้แก่ ไข้จับสั่น ไข้เหลือง ไข้ส่า และโรคหนังช้าง แต่โรคที่สำคัญสำหรับคนไทยคือ ไข้จับสั่นซึ่งรุนแรงถึงแก่ชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเผยแพร่ปัญหาเรื่องยุงในสยาม ยังไม่พบว่ามีมาตรการที่ชัดเจน นอกจากการส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันปราบยุงตามวิธีการที่ได้ประกาศในเอกสารสาธารณสุข ซึ่งเผยแพร่ไปทั่ว ความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการต่อสู้กับยุงเกิดขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไปแล้ว เมื่อรัฐบาลใหม่ของพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้แถลงนโยบายทางด้านสาธารณสุขต่อรัฐสภาในพ.ศ. 2480 ว่ารัฐบาลจะได้ขยายการควบคุมโรคซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเวลานั้น โดยเฉพาะไข้จับสั่น ซึ่งเป็นเหตุให้พลเมืองถึงแก่ความตามปีละ 3-4 หมื่นคนทุกปี ในกรอบของนโยบายนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอ “โครงการควบคุมไข้จับสั่น” ขึ้นมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ยุงจึงกลายมาเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยนับแต่นั้นมา
เก็บความจาก
ทวีศักดิ์ เผือกสม. เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2550, หน้า 101-117.
- 954 views