มติชน - นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการขูดหินปูนหรือหินน้ำลาย เพื่อป้องกันเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ ทั้งนี้ จากการสำรวจโดยสำนักทันตสาธารณสุขในปี 2555 พบว่าคนไทยวัยทำงานกว่าร้อยละ 70 มีหินปูนเกาะบนตัวฟันต้องขูดหินปูน ซึ่งทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่มีความสั่นสะเทือนทำให้หินปูนหลุดออก และยังมีเครื่องมือชิ้นเล็ก (Hand instruments) ขูดหินปูนโดยละเอียดอีกครั้ง และในขั้นตอนอาจทำให้มีเลือดออกบ้างมากน้อยแตกต่างกันไป แต่จะไม่กระทบกับผู้ป่วย
"อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางโรคต้องระวังและแจ้งทันตแพทย์ก่อนทุกครั้งที่จะขูดหินปูน คือกลุ่มโรคเลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำ (ลูคีเมีย) อาจมีจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกตามร่างกายร่วมด้วย โรคไตและผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การใช้ยาละลายลิ่มเลือด และกลุ่มที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และได้รับยาสเตียรอยด์ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เพราะแผลหายยาก หากแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อน จะช่วยให้สามารถเตรียมป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาการกำเริบได้" นพ.พรเทพกล่าว
ด้าน ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หินปูนจะสะสมเชื้อโรคหลายชนิด และเป็นแหล่งผลิตสารพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เหงือกอักเสบและเป็นโรคปริทันต์ วิธีการดูแลและป้องกันการเกิดหินปูนคือ กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณคอฟัน นอกจากนี้ แนะนำให้ตรวจสุขภาพช่องปากทุกปี หากมีหินปูนควรขูดออกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 9 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 882 views