ปลัดสธ.แถลงยื่นหนังสือสปสช.แก้ไขใน 2 สัปดาห์ หลังสตง.ทักท้วงสสจ.ในฐานะสปสช.สาขาจังหวัด 15 จว.ใช้เงินไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในงบกองทุนหลักประกันสุขภาพประเภทบัญชี 6 ที่สปสช.โอนให้ หมอวชิระ รองปลัดสธ. แจง เป็นปัญหาของสปสช. ไม่ใช่ สธ. เหตุจากระเบียบการใช้เงิน ให้มาใช้ตามระเบียบเงินบำรุงของสธ.แทน ระบุ หากปฏิเสธจะยกเลิกเป็นกรรมการร่วมทุกระดับ ด้านหมอประดิษฐ แจงให้ดำเนินการตามสายบังคับบัญชาของกระทรวง ให้ปลัดสธ.ส่งเรื่องมาที่รมว.สธ.ก่อน แล้วจะพิจารณานำเสนอวาระเข้าสู่บอร์ดสปสช.ต่อไป
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ได้มีการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการ สธ.นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ เพื่อหารือถึงแนวทางปฏิบัติของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลังจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทักท้วงมายัง สธ.
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกันเรื่องการเงินการคลังที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉพาะในประเด็นที่ สตง.ชี้ว่ามีการปฏิบัติไม่ชอบในบางเรื่อง เช่น การจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลกรที่ให้บริการเช่นการล้างไต ที่มีการจ่ายให้เป็นรายบุคคล ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของการจ่ายค่าตอบแทน เพราะตามข้อกำหนดต้องจ่ายให้กับหน่วยบริการเท่านั้น เรื่องนี้จะต้องมาหารือกัน ดังนั้นเมื่อถูกทักท้วงมาเช่นนี้ในระยะเวลาอีก 6 เดือนที่เหลือของงบประมาณปี 2557 สธ.จะขอให้ สปสช.ปรับอะไรบางอย่าง นอกจากนี้ยังได้หารือกันถึงความทุกข์ของเจ้าหน้าที่ และในระยะนี้จะมีงบประมาณจากเงินบำรุงให้กับหน่วยบริการไว้สำรองใช้
“เสนอปรับการทำงานร่วมกันโดยยืนยันว่ายังทำงานร่วมกันในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐทั้งคู่ เป็นสายของผู้จัดบริการกับผู้ซื้อบริการ ต้องมีการคุยกันว่าจะเดินต่อไปอย่างไร โดยเราจะเสนอเรื่องของเขตบริการสุขภาพที่เป็นคำตอบ และจะได้มาปฏิรูปกลไกการทำงานให้สอดคล้องกับเขตสุขภาพ ยืนยันเราจะเดินหน้าทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุดมีหลักประกันสุขภาพที่ดี และเจ้าหน้าที่เราสามารถทำงานอย่างมีความสุข ลดภาระงาน และมีเวลาทำงานด้านการดูแลส่งเสริมสุขภาพของประชาชน” นพ.ณรงค์ กล่าว และว่า ที่จริงมีการทักท้วงตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นรองปลัด ซึ่งกระทรวงก็บอกว่าไม่ชอบ มาตอนนี้ก็เป็นการตรวจอีกครั้งหนึ่ง
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่สตง.ได้ทักท้วงมายังสธ. ใน 5 ข้อนั้นเรื่องใหญ่ที่สุดคือเรื่องของการใช้งบบัญชี 6 คือ 1. งบค่าบริหารสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามระเบียบจะต้องจ่ายผ่านหน่วยบริการสุขภาพ แต่บัญชีนี้ไปกำหนดไว้ที่สำนักงานสาขาแทน 2. การจ่ายเงินตามภาระงานตามเป็นโครงการที่ สปสช.จัดให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ สปสช.ไม่มีอำนาจ เช่น ล้างไต อีกทั้งยังมีการจ่ายเงินเป็นรายบุคลซึ่งถือว่าผิดระเบียบ และสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนทำงานด้วยกัน ทั้งนี้ ทั้ง 2 ประเด็นจะขอให้ระงับการใช้ไปก่อนจนกว่าจะมีการหารือกันจนได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งเราเห็นว่าน่าจะให้การบริการตามระเบียบของเงินบำรุง ส่วนประเด็นปัญหาที่ 3.งบการลงทุนทดแทน หรืองบค่าเสื่อม บางอย่างไม่สามารถจ่ายได้ จึงขอให้มีการระงับการจัดซื้อไปก่อน
“แม้ว่าปัญหานี้เป็นของ สปสช แต่ สธ. ก็ต้องรับผิดชอบในการหาทางออกและคลี่คลายปัญหา ให้ สปสช. มาคุยกับเรา เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในระบบไม่ทุกข์มากยิ่งขึ้น ภายใน 2 สัปดาห์ ถ้า สปสช. ไม่เจรจาก็จะมีเงื่อนไขต่อไปอีกเช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ) จะทำหน้าที่เป็น สปสช.สาขาจังหวัดต่อไปหรือไม่ ประเด็นนี้เกิดจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้สสจ. เป็นสปสช.สาขาจังหวัด ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม แต่ประเด็นคือ นายแพทย์สสจ. นั้น อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปลัดสธ. ไม่ใช่ รมว.สธ.” นพ.วชิระ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า ล่าสุดวันนี้นพ.ณรงค์ ได้ลงนามในหนังสือถึง สปสช. เรื่องการขอระงับการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว พร้อมข้อเสนอ แนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อไปเสนอที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในช่วงบ่ายของวันนี้โดยขอให้ตอบกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ และช่วงหลังสงกรานต์นี้อยากให้มีการเจรจาหารือกันในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่หากไม่เจรจาเราจะพิจารณาว่าควรให้ สสจ.ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสปสช.ระดับจังหวัดต่อไปหรือไม่ เพราะขณะนี้ สสจ.ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของของปลัด สธ.ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้อำนาจนิติบุคคล ต้องมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสปสช.จังหวัดด้วย ตามประกาศ สปสช. ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นเป็นผู้ลงนามในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ซึ่งขณะเดียวกันในตัวประกาศฉบับนี้ก็ยังมีปัญหาว่ามีอำนาจทำได้หรือไม่ เพราะอย่างที่บอกว่า สสจ.เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของปลัด สธ. ไม่ใช่รมว.สธ. อีกประเด็นคือ ข้อสังเกตว่ามีอำนาจถูกต้องตามหลักการแยกอำนาจหน้าที่ของผู้ให้บริหาร และผู้รับบริการหรือไม่ แต่นี่เป็นคนๆ เดียวกัน จะเกิดการสับสนการใช้อำนาจหรือไม่ ซึ่งจะส่งเรื่องให้กับกฤษฎาตีความต่อไป
แหล่งข่าวในที่ประชุมเปิดเผยว่า ตามข้อเสนอต่างๆ ที่สธ.จะส่งให้กับ บอร์ด สปสช.ตอบกลับมานั้น หากไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่มีการเจรจา จะมีการยกเลิกการเป็นกรรมการในทุกระดับที่ทำร่วมกับสปสช. โดยเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 3 เม.ย. นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวในที่ประชุมบอร์ดสปสช. โดยยื่นให้นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. ซึ่งนพ.ประดิษฐถามกลับว่า ยื่นในนามของใคร นพ.ทรงยศตอบว่า ในนามของปลัดสธ. นพ.ประดิษฐ จึงกล่าว ถ้าเช่นนั้น ตามสายการบังคับบัญชา ต้องไปเปลี่ยนชื่อที่ระบุในหนังสือให้ถูกต้อง เพราะต้องดำเนินการตามสายบังคับบัญชา ดังนั้นให้เปลี่ยนเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ. ไม่ใช่ประธานบอร์ดสปสช. หลังจากนั้น ตนจะพิจารณานำเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดสปสช.ในฐานะรมว.สธ.เอง ไม่ใช่ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม นายนิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ดสปสช. สัดส่วนภาคประชาชนได้สอบถามประเด็นข้อเรียกร้องของสธ. และระบุว่าจะเป็นการทำลายระบบ นพ.ประดิษฐได้ตอบว่า ปัจจุบันเป็นรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถดำเนินการนโยบายใหม่ได้ สิ่งที่ปลัดสธ.ระบุว นั้น คงต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของรมว.สธ. คนใหม่ และรัฐบาลชุดใหม่ที่จะดำเนินการ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
- 4 views