เดลินิวส์ - เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบสัมฤทธิบัตรแก่แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทพ.ศ.2538-2556 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับทบวงมหาวิทยาลัย 14 สถาบันตอนหนึ่งว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 855 แห่งประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 68 แห่งและโรงพยาบาลชุมชน 759 แห่ง ซึ่งปัจจุบันได้ใช้ยุทธศาสตร์การบริหารในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ 12 เขต ดูแลเขตละ 4-8 จังหวัด ประชากรประมาณ 5 ล้านคน เป็นการจัดบริการรักษาพยาบาล สร้างเสริมสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับ โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ สถานที่ เช่น ห้องผ่าตัด เตียงนอน และงบประมาณ เสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อประชาชนสูงสุดบรรเทาปัญหาขาดแคลนบุคลากร ผลสำรวจล่าสุดพบว่า 12 เขตมีแพทย์ปฏิบัติงานทั้งหมด 13,230 คน ขณะที่กรอบอัตรากำลังที่ควรจะมีตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,250 คน คือ 25,520 คน กล่าวได้ว่ามีแพทย์ปฏิบัติงานเพียงร้อยละ 52 ยังขาดอีก 12,290 คน คาดภายในปีพ.ศ.2565 จะมีแพทย์เพิ่ม 13,000 กว่าคน ซึ่งการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย 14 แห่งผลิตเพิ่มเติมจากระบบปกติหรือระบบเอนทรานซ์เริ่มตั้งแต่พ.ศ.2538 เป็นต้นมาจนถึงพ.ศ. 2556 รวม 19 ปี ทั้งหมด 13,186 คน ขณะนี้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 13 รุ่น ล่าสุดครม.ได้อนุมัติในหลักการโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยพ.ศ.2556-2560 มีเป้าหมายผลิตแพทย์ 9,039 คน เพิ่มจากแผนปกติที่มีอยู่เดิม 4,780 คนประกอบด้วยโครงการผลิตแพทย์เพิ่มโดยกระทรวงศึกษาธิการ 4,038 คนโครงการผลิตแพทย์ชนบทเพิ่มภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข 5,001 คน รวมทั้งสิ้น 13,819 คน ซึ่งจะทำให้มีแพทย์ให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น
"การผลิตแพทย์ 1 คนใช้งบประมาณคนละ 3 แสนบาทต่อปี เรียน 6 ปีโดยชั้นปี 1-3 เรียนภาคทฤษฎีที่มหาวิทยาลัย 14 แห่งซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำหลักสูตรและประสาทปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต ส่วนชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นการเรียนภาคคลินิก เรียนที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นสถาบันสมทบ 37 แห่ง ภายหลังจบการศึกษาแล้วมีสัญญาผูกพันให้กลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ที่รับทุน ผลการปฏิบัติงานพบว่าแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทปฏิบัติงานชดใช้ทุนครบตามเวลากำหนด" นพ.ณรงค์ กล่าว.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 2 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 10 views