สธ. เผยสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ปีนี้น่าห่วง คาดจำนวนผู้ป่วยจะมากกว่าปี 2556 เชื้อต้นเหตุคือสายพันธุ์เอช 1 เอ็น 1 หรือ 2009 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 - 22 มีนาคม 2557 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 23,899 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือ เด็ก-เยาวชน จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ลำปาง เชียงใหม่ ระยอง อุตรดิตถ์ และพะเยา ย้ำเตือนประชาชนหากป่วยเป็นไข้ ไอ เกิน 2 วัน ให้รีบพบแพทย์ก่อนอาการจะรุนแรง ย้ำผู้ที่กำลังป่วยให้หยุดพักงาน หมั่นล้างมือ คาดหน้ากากป้องกันเชื้อแพร่สู่คนอื่น ส่วนประชาชนทั่วไปให้ป้องกัน โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ กินร้อน และใช้ช้อนกลางกินอาหารร่วมวงกับคนอื่น
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง เนื่องจากขณะนี้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2556 และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 3 ปีย้อนหลัง จากข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 22 มีนาคม 2557 รวม 75 วัน พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 23,899 ราย เสียชีวิต 24 ราย กลุ่มอายุที่พบป่วยมากที่สุดคือเด็กและเยาวชน อายุตั้งแต่ 7 ปีจนถึง 34 ปี จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ลำปาง เชียงใหม่ ระยอง อุตรดิตถ์ และพะเยา
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กระทรวงฯดำเนินการขณะนี้ คือให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศติดตามเฝ้าระวังและรายงานผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ป้องกันตนเอง ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ และผู้ป่วยเป็นไข้หวัดทุกราย ให้สวมหน้ากากป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคให้ผู้อื่น ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ให้สวมหน้ากากป้องกัน และป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติงาน ให้การรักษาผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงฯ กำหนด โดยได้กระจายยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ไปให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศแล้ว ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี 2557 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม เป็นต้น จะสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เป็นต้นเหตุการป่วยในไทยในปีนี้คือสายพันธุ์เอ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์จากผู้ป่วย ในช่วงวันที่ 9-15 มีนาคม 2557 พบมากถึงร้อยละ 44 รองลงมาคือสายพันธุ์บี ร้อยละ 38 และสายพันธุ์เอ เอช 3 เอ็น 2 ร้อยละ 18 ยังไม่พบปัญหาเชื้อกลายพันธุ์ และยังไม่พบการดื้อต่อยาต้านไวรัส ซึ่งการป่วยไข้หวัดใหญ่นี้เป็นแล้วอาจเป็นซ้ำได้อีกจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ ผลการศึกษาจากสหรัฐและยุโรปพบว่าเชื้อชนิดนี้มีความรุนแรงสูงกว่าสายพันธุ์เก่าอื่นๆ โดยมีอัตราป่วยตายและอัตราเข้ารับการรักษาในรพ. สูงกว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่น และข้อมูลองค์การอนามัยโลกรายงาน ณ วันที่ 24 มีนาคม 2557 พบว่าสายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่ตรวจพบในแถบทวีปอเมริกาเหนือ เอเชียตะวันออก แอฟริกาเหนือ และเอเชียตะวันตก มากที่สุดคือสายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 เช่นกัน
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ติดต่อกันได้ง่ายภายในครอบครัว ที่ทำงาน โรงเรียน โดยเชื้ออยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ติดกันได้จากการไอ จาม และปนเปื้อนอยู่ที่ภาชนะ ของใช้ส่วนตัว หรือของใช้สาธารณะ เช่น ลูกบิด ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได ราวรถโดยสาร และติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางมือที่เปื้อนเชื้อเมื่อแคะจมูกขยี้ตา เอานิ้วเข้าปาก เป็นต้น จึงขอแนะนำว่าไม่ควรเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่นสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน หากจำเป็นเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวต้องป้องกันตนเองอย่างดี
ส่วนประชาชนทุกกลุ่มอายุ เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดให้คาดหน้ากากป้องกันตลอดเวลา หากไม่มีให้ใช้กระดาษทิชชูหรือใช้ผ้าเช็ดหน้า ปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม หรือไอจามใส่แขนเสื้อของตนเองเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวและสิ่งของที่มีคนสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร ขอให้งดการเดินทาง หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน โรคนี้อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง แต่หากมีอาการมากขึ้น เช่น มีไข้สูง เกิน 2 วันหรือ ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมาก ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สามารถเดินทางไปได้ตามปกติ ผู้ที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวใด ยังไม่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง อย่างไรก็ตาม หากต้องการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดการป่วยและความรุนแรงของโรค ก็สามารถขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ทันก่อนเดินทาง ในกรณีประชาชนทั่วไปจะมีค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0 2590 3159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 7 views