สาธารณสุข ส่งเจ้าหน้าที่เคาะประตูบ้านแนะนำการปฏิบัติตัวประชาชนที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสัมผัสควันไฟจากบ่อขยะสูง ขอให้งดออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด และเปิดเครื่องปรับ -อากาศ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องสัมผัสกับควัน หากมีอาการ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ทันที โดยกระทรวงฯ จะตรวจสุขภาพให้กลุ่มสัมผัสสูงสุดและเสี่ยงรุนแรง ซึ่งมีประมาณ 200-500 คนในสัปดาห์หน้า
วันนี้ (19 มีนาคม 2557) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมวอร์รูมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้บ่อขยะที่จังหวัดสมุทรปราการว่า สถานการณ์ในภาพรวมขณะนี้ดีขึ้น เนื่องจากพื้นที่เผาไหม้ของกองขยะลดลง ในการจัดการด้านการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขจากผลกระทบดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ด้านคือ การจัดบริการทางการแพทย์ การเฝ้าระวัง และการรักษาที่สถานพยาบาล
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังสุขภาพผู้ที่สัมผัสกับควันไฟจากบ่อขยะ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มสัมผัสสูงสุดและเสี่ยงรุนแรง คือ นักผจญเพลิง นักข่าว วินมอเตอร์ไซค์ อาสาสมัครที่เข้ามาร่วมดับเพลิง ทหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ต้องอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีประมาณ 200-500 คน โดยจะนัดมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลสมุทรปราการอย่างละเอียด ทั้งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจสมรรถภาพปอด ในสัปดาห์หน้า 2.กลุ่มคนที่อยู่ในรัศมี 200 เมตรจากจุดเกิดเพลิงไหม้ จะตรวจสุขภาพเบื้องต้น ตรวจเลือดและปัสสาวะ และ 3.กลุ่มคนในรัศมีมากกว่า 200 เมตรขึ้นไป จะคัดกรองด้วยการตอบแบบสอบถาม หากเป็นผู้ที่ได้สัมผัสควันไฟก็จะตรวจคัดกรองต่อ และขึ้นทะเบียนเพื่อติดตามต่อเนื่องระยะยาว
“ในการให้บริการเฉพาะหน้า ขณะนี้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน 2 จุด คือที่ อบต.แพรกษาและวัดแพรกษา มีผู้มารับบริการ 100 กว่าคน ส่วนใหญ่ระคายเคืองตา ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น รวมทั้งมีทีมสุขภาพจิตออกให้บริการด้วย และในวันนี้ได้ดำเนินการเพิ่มเติมคือ ส่งทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกประชาสัมพันธ์ประชาชนที่ยังไม่อพยพออกจากบ้าน โดยจะออกไปเคาะประตูบ้านให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว รวมถึงผลเสียต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ขณะนี้ศูนย์อพยพที่ อบต.แพรกษา ในเบื้องต้นยังปลอดภัยอยู่ แต่ต้องประเมินสภาพอากาศทุกวัน เนื่องจากลมเปลี่ยนทิศทาง หากไม่ปลอดภัยก็จะแนะนำให้ย้าย” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลการตรวจสภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบบ่อขยะ พบสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในปริมาณที่เกินค่ามาตรฐาน ทั้งซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมทั้งพบฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมาก มีผลให้ระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ เด็กทารกแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้คือ งดออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด และเปิดเครื่องปรับอากาศ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องสัมผัสกับควัน หากมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ทันที
- 1 view