ไทยรัฐ - สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติยังคงเฝ้าระวังการแพร่กระจายของสารรังสีในสิ่งแวดล้อม หลังผ่าน 3 ปี เหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น โดยร่วมกับ อย.ตรวจวัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร แต่ไม่พบสิ่งผิดปกติ...
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เป็นเวลา 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2554 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นระเบิด และเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี รั่วออกจากบริเวณถังเก็บ ภายในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมา ไดอิชิ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2556 ส่งผลให้หลายประเทศต้องเพิ่มความระมัดระวัง ในการเฝ้าระวังรังสีในสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษทั้งนี้ ปส. ยังคงดำเนินการเฝ้าระวังรังสีในอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจวัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร เพื่อเป็นการย้ำความมั่นใจในการบริโภคอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทย นำเข้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 988 ตัวอย่าง อาทิ แป้งสาลี ปลาซาร์ดีน ชาเขียว ปลาแมคเคอเรว ปลาหมึก ไม่ปรากฏว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหารเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยต่อไป ทาง อย.ยังคงส่งตัวอย่างอาหารมาวัดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเหตุการณ์รั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นปกติ
นอกจากนี้ ปส.ได้วัดค่าปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมจากสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสี ซึ่งติดตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยผลปรากฏว่า ค่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติ รวมถึงยังได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมประมงและกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการสำรวจและเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมทางทะเล (ไทย) อาทิ น้ำทะเล และอาหารทะเล มาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง พบว่าค่าปริมาณรังสีอยู่ในระดับปกติเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน ปส. มีเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ จำนวน 12 สถานี ซึ่งติดตั้งครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีแผนขยายการติดตั้งสถานีเฝ้าระวังภัยฯ ทางอากาศเพิ่มใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย หนองคาย และภูเก็ต.
ที่มา: http://www.thairath.co.th
- 21 views