กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตลาดเสรี รณรงค์การดำเนินงานตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย พร้อมแนะเจ้าของตลาด ผู้ประกอบการหมั่นดูแลทำความสะอาดตลาดเดือนละครั้ง ลดความเสี่ยงโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อตามมา เช่น ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2557) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตลาดสดเสรี อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ว่า ตลาดสดซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชน สินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารสด อาหารแห้ง อาหารแปรรูปและอาหารปรุงสำเร็จ ดังนั้น การที่ประชาชนจะได้รับอาหารสดที่สะอาด ปลอดภัย ต้องเลือกซื้อสินค้าจากตลาดสดที่ได้มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อของกรมอนามัยเพราะมีการพัฒนาแล้วทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เช่น โครงสร้างตลาดต้องมีความมั่นคงแข็งแรง สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก มีการจัดการขยะ น้ำเสีย และจัดวางสินค้าเป็นระเบียบเรียบร้อย แผงจำหน่ายอาหารต้องอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 ซม. ผู้ขายหรือพ่อค้าแม่ค้าแต่งกายสะอาด ผู้ปรุงใส่ผ้ากันเปื้อนที่สะอาด สวมหมวกหรือเน็ทคลุมผม 2) ด้านความปลอดภัยของอาหาร มีการตรวจสอบและไม่พบสารปนเปื้อนในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ สารฟอร์มาลีน สารกันรา สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว และยาฆ่าแมลง 3) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ประกอบกิจการตลาดต้องจัดบอร์ดให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย จัดจุดทดสอบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีเครื่องชั่งกลางที่ได้มาตรฐานไว้บริการ
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อตามมาและเป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดี ผู้ประกอบการควรมีการล้างตลาดสดเดือนละครั้ง หรือหากอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโรคควรล้างตลาดเดือนละ 2-3 ครั้ง โดยเน้นที่ 3 จุดสำคัญ ได้แก่ พื้น เขียง แผง เพราะเป็นจุดที่อยู่ใกล้ชิดและสัมผัสอาหารมากที่สุด จึงสามารถเป็นเส้นทางผ่านเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ ซึ่งการล้างตลาดที่ถูกหลักสุขาภิบาลมี 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ ขั้นที่ 1 การล้างด้วยน้ำและผงซักฟอกเพื่อกำจัดคราบสกปรก แล้วฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนบริเวณบนแผงหรือพื้นทางเดิน แต่หากมีคราบไขมันจับให้ใช้น้ำผสมโซดาไฟราดลงบนพื้นหรือแผงทิ้งไว้นาน 15-30 นาที และใช้แปรงลวดถูเพื่อช่วยในการขจัดคราบไขมัน และขั้นที่ 2 การฆ่าเชื้อโรคโดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีนใส่ลงในฝักบัวรดน้ำและลดบริเวณแผง เขียง ทางเดิน ทางระบายน้ำเสียงให้ทั่ว จากนั้นปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรคและกำจัดกลิ่น ส่วนบริเวณที่มีกลิ่นคาวให้ใช้หัวน้ำส้มสายชูผสมน้ำให้เจือจางราดบริเวณที่มีกลิ่นคาว สำหรับบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะและก๊อกน้ำสาธารณะที่ใช้ในตลาดต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกช่วยและล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อได้
"ทั้งนี้ ประชาชนที่ซื้ออาหารมาปรุงประกอบเองต้องใส่ใจเรื่องความสะอาด ปลอดภัยโดยล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมหรือปรุงประกอบอาหารทุกครั้ง ใช้ที่คีบ ช้อนหรือส้อมหยิบจับอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว ไม่เตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น บริเวณหน้าหรือในห้องน้ำ ห้องส้วม โดยใช้โต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. ล้างเนื้อสัตว์และผักสดให้สะอาดก่อนนำมาปรุง เก็บอาหารประเภทต่างๆ แยกเป็นสัดส่วนและเนื้อสัตว์ดิบต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เลือกใช้เครื่องปรุงที่มีเครื่องหมายรับรองจาก อย. หรือจากกระทรวงอุตสาหกรรม และสังเกตวันหมดอายุ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงหน้าร้อนจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ เมื่อรับประทานไม่หมดควรนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนนำมารับประทาน ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกัน และล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร สำหรับผักและผลไม้เพื่อความปลอดภัยและลดการปนเปื้อนของสารเคมี ควรล้างผักและและผลไม้สดให้สะอาดโดยแกะลอกเปลือกชั้นนอกทิ้ง ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง หรือล้างด้วยการใช้น้ำก๊อกไหลผ่านผักสดนานอย่างน้อย 2 นาทีร่วมด้วยการใช้สารละลายอื่นๆ เช่น เกลือละลายน้ำ น้ำส้มสายชู น้ำยาล้างผัก หลังจากนั้นจึงนำผักมาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งสามารถลดสารเคมีได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 371 views