กระทรวงสาธารณสุข จัดงบประมาณ 470 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลราชบุรี เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยและญาติ จะเสร็จในปี 2560 เผยขณะนี้พบประชาชนใน8 จังหวัดได้แก่กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงครามมีอัตราการตายจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 คือ อัตรา 91 คนต่อ 1 แสนคน ส่วนโรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับ 7 คือ พบ 16 คนต่อ 1 แสนคน
วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ของโรงพยาบาลราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี และให้สัมภาษณ์ว่า ตามนโยบายการพัฒนาระบบบริการ (Service Plan)ของกระทรวงสาธารณสุขพ.ศ.2555-2560 ได้วางแผนพัฒนาให้โรงพยาบาลราชบุรี เป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญรักษาโรคหัวใจและโรคมะเร็งประจำเขตบริการสุขภาพที่ 5 ซึ่งประกอบด้วย 8 จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เนื่องจากพบว่าประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวมีอัตราการตายจากโรคมะเร็งสูงเป็นอันดับ 1 คือ 91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนโรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับ 7 คือพบ 16 รายต่อ 1 แสนคน
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณวงเงิน 470 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารศูนย์เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และรังสีวินิจฉัยที่โรงพยาบาลราชบุรี เป็นอาคารสูง 10ชั้น ภายในอาคารนี้ จะมีแผนกรังสีรักษาและรังสีวินิจฉัย ห้องผ่าตัด หน่วยผ่าตัดหัวใจ ห้องไอซียู หอผู้ป่วย สำนักงานแพทย์ คาดแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการรักษาได้ภายในปี 2560 ซึ่งศูนย์ดังกล่าว จะเป็นแม่ข่ายดูแลประชาชนใน 8 จังหวัดซึ่งมี 5 ล้านกว่าคน ได้รับการดูแลรักษาใกล้บ้าน ไม่ต้องส่งตัวผู้ป่วยไปยังสถานบริการที่อยู่นอกเขต เช่นในกทม. ซึ่งยุ่งยาก เสียเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยพิการหรือเสียชีวิตเนื่องจากความล่าช้าในการรอคอยรักษา และยังเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ป่วยและญาติอีกด้วย
ด้านนายแพทย์สมชาย เทพเจริญนิรันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่าโรงพยาบาลราชบุรี เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 855 เตียง เป็นโรงพยาบาลตติยภูมิระดับสูง ให้บริการประชาชนที่ป่วยทางกายและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 2,800 คนต่อวัน ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลวันละ 658 คน มีแพทย์เฉพาะทางเชี่ยวชาญ 140 คน ทันตแพทย์ 12 คน พยาบาล 632 คน เภสัชกร 28 คน และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ รวมทั้งหมด 997 คน เป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางที่ทันสมัย เช่น ศูนย์โรคหัวใจ มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรคหัวใจ ผ่าตัดหัวใจได้ โดยขณะนี้ได้จัดการดูแลรักษาผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจของเขตบริการสุขภาพที่ 5 หากมีปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ จะส่งตัวไปตรวจขยายเส้นเลือดหัวใจที่โรงพยาบาลมหาชัย จ.สมุทรสาคร หรือที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ จ.นครปฐม ก่อน จากนั้นจะส่งกลับไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลราชบุรี โดยในปีงบประมาณ 2556 มีผู้ป่วยโรคหัวใจเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เฉลี่ยวันละ 298 ราย ผู้ป่วยใน เฉลี่ยวันละ 5 ราย ส่วนโรคมะเร็ง เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก เฉลี่ยวันละ 64 ราย ผู้ป่วยใน เฉลี่ยวันละ 10 ราย
นายแพทย์สมชายกล่าวต่อว่า ในเดือนเมษายน 2557 นี้ โรงพยาบาลราชบุรีจะเปิดศูนย์รักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการการฉายแสงหรือรังสีรักษาเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากที่ผ่านมาในเขตบริการสุขภาพที่ 5 มีผู้ป่วยมะเร็งปีละ 16,000 ราย ต้องส่งไปฉายแสงที่กรุงเทพฯ ปีละ 1,500 ราย และต้องรอคิวฉายแสงมากกว่า 1 เดือน
- 1086 views