ตลอดระยะเวลาการดำเนิน “โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “30 บาท รักษาทุกโรค” ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 ท่ามกลางการยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการชื่มชมจากนานาประเทศ แม้แต่องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก ที่ยกนิ้วให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบการจัดระบบหลักประกันสุขภาพภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่ก็ได้รับการโจมตีหนักอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะถูกตีตราว่าเป็น “นโยบายประชานิยม” เพราะเป็นโครงการที่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทั้งประชาชนยังตอบรับอย่างล้นหลาม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโครงการที่ตกเป็นเหยื่อโจมตีทางการเมืองมาโดยตลอด แม้ที่ผ่านมาจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนจำนวนมากก็ตาม
จุดเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นที่ทราบกันดีว่า เกิดจากความตั้งใจและมุ่งมั่นของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ริเริ่มโครงการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยเห็นถึงความทุกข์ยากของชาวบ้านที่เข้าไม่ถึงการรักษาในช่วงทำงานในโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากไม่มีเงินค่ารักษา แม้ขณะนั้นโรงพยาบาลจะมีนโยบายสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้ก็ตาม แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงไม่กล้ารับบริการเพราะการสงเคราะห์ขึ้นอยู่กับความเมตตาและการพิจารณาของภาครัฐ ขณะที่บัตรประกันสุขภาพ 500 บาทต่อปี ชาวบ้านที่มีรายได้น้อยก็ยากที่จะจ่าย แนวคิดการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเกิดขึ้น และได้ทดลองนำร่องความเป็นไปได้ ก่อนนำโครงการเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ จนได้รับการตอบรับ นำมาสู่การปฏิรูประบบการรักษาพยาบาลของประเทศ
ด้วยการพลิกโฉมการรักษาพยาบาลของประเทศ ไม่เพียงกำหนดการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังทำให้คนไทยทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพ เปลี่ยนจาก “สงเคราะห์” เป็น “สิทธิ” เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการจึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งปัญหาภาระงบประมาณที่ต้องแบกรับ จำนวนผู้ป่วยที่แห่เข้ารับบริการ ภาระงานที่เพิ่มขึ้นของแพทย์ พยาบาลและสายวิชาชีพในระบบ มาตรฐานรักษารวมไปถึงคุณภาพยาที่ใช้ในระบบ
ตลอดระยะเวลา 11 ปี ด้วยการบริหารจัดการระบบและงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ดีและยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไป เห็นได้จากเสียงสะท้อนประชาชนทั้งโพลสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความเห็นในกระทู้ตามเว็บไซด์ต่างๆ อย่างเว็บไซด์พันทิป แม้จะมีความเห็นลบอยู่บ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศต่างได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ อย่างน้อยทำให้เข้าถึงการรักษา ลดภาระค่ารักษาที่อาจนำไปสู่ภาวะล้มละลาย ดังนั้นที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาบริหาร นอกจากไม่ล้มโครงการแล้วกลับเดินหน้าต่อยอด
แม้แต่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยังระบุว่า 30 บาท รักษาทุกโรค ควรจัดเป็น “นโยบายสวัสดิการ” ที่ต้องแยกออกจากนโยบายประชานิยม เพราะมีความยั่งยืนทางการคลัง ช่วยคนจนเข้าถึงการรักษา สร้างสุขภาพดีให้กับประชาชน ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
เป้าหมายโจมตี 30 บาทรักษาทุกโรคที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงเป็นเพียงแค่การมุ่งดิสเครดิตทางการเมือง
- 104 views