คปภ.เผยผลสรุปของทีดีอาร์ไอ ในการพัฒนา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แจงข้อเสนอแนะ เพิ่มเบี้ยประกันรถคันที่เสี่ยงสูงกว่า คุ้มครองผู้เอาประกันโดยเท่าเทียม และควรแยกกองทุนผู้ประสบภัยเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อความคล่องตัว
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมโดยนายอัมมาร สยามวาลา นำเสนอผลการวิจัยและรับฟังความคิดเห็นตาม “โครงการศึกษาวิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535″ หรือ พ.ร.บ.รถ
โดยโครงการศึกษาวิจัยกรอบและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการพัฒนาระบบการประกันภัยตาม พ.ร.บ.รถ เป็นโครงการที่สำนักงาน คปภ.มอบให้ทีดีอาร์ไอดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อเสนอกรอบแนวทางการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และบริบทการพัฒนาประเทศหลังประกาศใช้มากว่า 20 ปี โดยมีการเก็บข้อมูลจากผู้ประสบภัยจากรถ ผู้เอาประกันภัย สถานพยาบาล บริษัทประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนศึกษาการประกันภัยรถภาคบังคับของต่างประเทศนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ
สำหรับผลการศึกษา ทีดีอาร์ไอได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการประกันภัยรถภาคบังคับในหลายประเด็น เช่น 1. การส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างทางการตลาด ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเพื่อให้ธุรกิจประกันภัยแสดงศักยภาพที่เป็นจุดแข็งให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการกำหนดเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการใช้รถของผู้ขับขี่แต่ละคน รถคันใดเกิดเหตุบ่อยต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงกว่ารถคันอื่น ควรปรับนโยบายให้เบี้ยประกันภัยขึ้นลงได้แทนอัตราคงที่ (Fixed Rate) ที่ใช้อยู่
2. ในด้านจำนวนเงินความคุ้มครอง เห็นว่าควรปรับปรุงให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับการดูแลโดยเท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจุบันผู้ประสบภัยที่ถูกชนแล้วหนี หรือเกิดจากรถที่ไม่ทำประกันภัยชน ได้รับค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าผู้ประสบภัยที่ถูกรถที่มีประกันภัยชน นอกจากนั้นยังเห็นว่าจำนวนเงินความคุ้มครองควรมีการปรับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ คปภ.ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการเข้มงวดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นรถที่หลีกเลี่ยงการทำประกันภัยสูงมาก
3. ในส่วนการดำเนินงานของกองทุนทด แทนผู้ประสบภัยนั้น เห็นว่าควรมีการปรับเปลี่ยนการทำงานจากเดิมที่อิงกับระบบราชการ ออกไปเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อให้เกิดความความคล่องตัวในการดำเนินงาน
นอกจากนั้น ยังสนับสนุนนโยบายที่สำนักงาน คปภ.ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim) ที่เป็นระบบการเรียกค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลโดยตรงกับบริษัทประกันภัยและกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย การกำหนดให้บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นศูนย์กลางการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Clearing House) ให้กับบริษัทประกันภัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นายอัมมารได้เน้นย้ำจุดยืนหน้าที่ของบริษัทประกันภัยว่า ควรตระหนักถึงการเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและการตั้งราคาเพื่อควบคุมความเสี่ยง และสำนักงาน คปภ.ควรต้องกำกับให้บริษัทประกันภัยสร้างคุณค่าให้กับสังคมผ่านระบบประกันภัยให้มากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557
- 4 views