กระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก เนื่องจาก มีรายงานการเจ็บป่วยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ย้ำเตือนประชาชนไม่ให้นำเป็ด ไก่ รวมทั้งนกที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมาชำแหละประกอบอาหาร หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย หรือป่วยมีอาการไข้ไอหลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีรายงานผู้ป่วย ให้สวมหน้ากากป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และรีบพบแพทย์ภายใน 48ชั่วโมงหรือโทรปรึกษาสายด่วน1422 ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมดูแลรักษา
จากกรณีที่คณะวิจัยจีน พบโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่คือเชื้อเอช 10 เอ็น 8 ( H10N8) ที่ทำให้หญิงชราวัย 73 ปี 1 ราย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม2556 และพบผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ติดเชื้อเมื่อเดือนมกราคม 2557 โดยประเด็นที่น่าห่วงคือการที่ไวรัสสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการติดเชื้อในเนื้อเยื่อระดับลึกอย่างเช่นในปอด รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูล รวิจัยในจีน ถือว่าเป็นประโยชน์มากในการเตรียมมาตรการพร้อมของทุกประเทศ ในการรับมือไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช10 เอ็น 8 ได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช10 เอ็น 8 และสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีรายงานพบในต่างประเทศ เช่นเอช7เอ็น 9 (H7N9) เอช 5 เอ็น1 (H5N1) ทั้งในสัตว์ปีก สัตว์ป่าและในคน และไทยไม่มีการนำเข้าสัตว์ปีกจากประเทศจีน โดยขณะนี้ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์ของไทย มีศักยภาพ สามารถตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกได้
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้มอบให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเข้มมาตรการเฝ้าระวังโรคร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด ทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างเข้มข้น เน้นหนักพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยหรือสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก แม้ว่าไทยจะไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5เอ็น 1 ตั้งแต่ พ.ศ.2549 และไม่มีรายงานการเกิดโรคในสัตว์ปีกตั้งแต่ พ.ศ.2551เป็นต้นมา แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากภูมิภาคใกล้เคียงยังพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเดินทางข้ามพรมแดนตลอดเวลาและให้กรมควบคุมโรคประสานงานจากองค์การอนามัยโลก อย่างใกล้ชิด
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่พบการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเน้นมาตรการการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ พร้อมการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การดูแลรักษาพยาบาล เรื่องที่ต้องเน้นย้ำขณะนี้ คือประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่ที่มีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงกำลังตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้สูงอายุ ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ไม่สัมผัสสัตว์ปีกไม่ไปตลาดขายสัตว์ปีก หมั่นล้างมือ และภายหลังกลับจากต่างประเทศภายใน 15 วัน หากมีอาการป่วยมีไข้สูงไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขอให้คาดหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังผู้อื่น ขอให้รีบพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง และแจ้งประวัติการเดินทางแก่แพทย์ เพื่อรับการรักษาถูกต้องทันเวลา ขณะนี้ยาต้านไวรัสยังใช้ได้ผลดี
ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ขอความร่วมมือกันประชาชนทุกคน ให้ช่วยกันสังเกตอาการของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อและป่วยจากไข้หวัดนก ได้แก่ ซูบผอม ซึม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ขนร่วง ไข่น้อยลง หงอนและเหนียงบวม มีสีคล้ำ ท้องเสีย หากพบสัตว์มีอาการดังกล่าว ขอให้สงสัยอาจติดเชื้อไข้หวัดนก ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม.หรือผู้นำชุมชน เพื่อทำการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็วที่สุด และขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ห้ามนำสัตว์ปีก ที่ตายแล้วหรือกำลังป่วยมาชำแหละเพื่อจำหน่ายหรือรับประทาน เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก ให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติกและล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก
ทั้งนี้สถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก(WHO) รายงาน ณ วันที่ 23 มกราคม2557 ว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2546–17 มกราคม 2557 พบผู้ป่วยไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 จำนวน 649 ราย เสียชีวิต 385 ราย จาก 16 ประเทศ ส่วนไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช7 เอ็น 9 พบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อ จำนวน 219 ราย เสียชีวิต 52รายในประเทศจีน ประชาชนที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค 0-2590-3159 ในเวลาราชการ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24ชั่วโมง
- 1 view