จากสถานการณ์การเมืองส่งผลให้สังคมเกิดการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน แม้ไม่พูดออกมา แต่ภาพฟ้อง... เห็นได้จากการที่บุคลากรสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล วิชาชีพต่างๆออกมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มกปปส. ในนามประชาคมสาธารณสุข มีนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในประชาคมฯ ที่ร่วมออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐบาล ต้องการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง จุดนี้เองทำให้ถูกมองว่า แพทย์เลือกข้างแล้ว..
พล.ร.ต.นพ.สมยศ สำราญบำรุง
ในทางกลับกันก็มีแพทย์อีกกลุ่ม ที่แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ออกมาแสดงจุดยืนในมุมของตน ในชื่อ “กลุ่มแพทย์และผู้รักประชาธิปไตย” โดยมี “พล.ร.ต.นพ.สมยศ สำราญบำรุง” ประธานกลุ่มแพทย์และผู้รักประชาธิปไตย ออกมาประกาศชัดเจนให้มีการเลือกตั้ง และร่วมแสดงจุดยืนผ่านการจุดเทียนสนับสนุนการเลือกตั้งที่ถนนเลียบคลอง ข้างตลาดรังสิต เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา หลายคนสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีการรวมกลุ่มดังกล่าว และการออกมาแสดงจุดยืนเช่นนี้จะส่งผลอะไรหรือไม่
“การรวมกลุ่มครั้งนี้เป็นการรวมกันของอาจารย์แพทย์ ทั้งเกษียณ และทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนมร่วมกันแสดงพลังประชาธิปไตย ไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่ต้องการให้ทุกอย่างมีกติกา บ้านเมืองต้องมีกติกา และกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง...”
พล.ร.ต.นพ.สมยศ บอกว่า กลุ่มได้ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ความคิดเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย และกังวลจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องการแสดงพลังถึงจุดยืนของแพทย์ที่ต้องการความสงบกลับคืน โดยทางกลุ่มเป็นการรวมตัวกันของอาจารย์แพทย์ที่ส่วนใหญ่เกษียณอายุราชการไปแล้วประมาณ 100 คน ซึ่งพวกตนมองว่าอยากให้ประเทศชาติเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง พร้อมทั้งปฏิรูปอย่างถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มไม่ได้มีอะไรมาก แค่แสดงพลัง แสดงจุดยืนร่วมกันในการต้องการให้ประเทศเข้าสู่ระบบของประชาธิปไตย โดยพวกตนได้แสดงพลังด้วยการจุดเทียนเท่านั้น ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวใดๆ อีก
ส่วนกรณีเกิดความเป็นห่วงว่า การที่ออกมาลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายระหว่างแพทย์ด้วยกันหรือไม่ เรื่องนี้มองว่า เป็นสิทธิของแต่ละบุคคลมากกว่า ส่วนวิชาชีพแม้จะติดตัวเราไปตลอด แต่หากเราแสดงพลังแสดงออกอย่างเหมาะสมก็ไม่น่ามีปัญหา
“วิชาชีพแพทย์จัดเป็นอาชีพหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม แพทย์ พระ ครู ที่เป็นวิชาชีพที่คนให้เกียรติ ให้ความเคารพ การแสดงออก หรือมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะออกมาพูดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ย่อมทำได้ แต่ต้องมีขอบเขต รู้จักสิทธิ และหน้าที่ของตน ที่สำคัญการพูดจาต้องสุภาพ โดยเฉพาะแพทย์ เป็นวิชาชีพที่คนเคารพต้องรู้จักวิธีพูดให้ดีด้วย” พล.ร.ต.นพ.สมยศ กล่าว
เรื่องนี้จึงนำไปสู่คำถามว่า แล้วคิดอย่างไรกับการที่มีอาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยหนึ่งกล่าวโจมตีรัฐบาล นายกรัฐมนตรีในถ้อยคำไม่เหมาะสม พล.ร.ต.นพ.สมยศ กล่าวว่า เข้าใจว่าคงพูดในฐานะประชาชน แต่การจะพูดอะไร ก่อนพูดต้องให้ชัดว่า พูดในฐานะประชาชน ไม่ใช่แพทย์ แต่สุดท้ายพูดอะไร ผลกระทบก็จะตกที่คนพูดอยู่ดี ดังนั้น ต้องระมัดระวัง และหวังว่าแพทย์รุ่นใหม่ๆ จะระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นกรณีการชุมนุมไหน หรือต้องการแสดงออกใดก็ตาม แต่จุดหนึ่งที่อยากย้ำคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องจรรยาบรรณ ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพแพทย์ เพราะไม่เกี่ยวกับการรักษา คงต้องแยกกันด้วย
ส่วนที่มีการใช้สัญลักษณ์กาชาดในการชุมนุม หรือถือป้ายคำไม่เหมาะสมนั้น จริงๆ เป็นสิทธิ แต่ปัญหาคือ ไม่ควรใช้สิทธิดังกล่าวในเชิงไม่สุภาพ เรื่องนี้โดยรวมแล้วควรออกมาแสดงออกในนามบุคคล อย่าเอาสถาบัน หรือเอาภาพขององค์กรใดมาร่วมเลยจะดีที่สุด
แม้แต่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ออกมาในนามประชาคมสาธารณสุข แต่ดูเหมือนว่าในภาพรวมถูกมองว่า ข้าราชการกระทรวงฯ หมอในกระทรวงลุกฮือต้านรัฐบาล เรื่องนี้ประธานกลุ่มแพทย์และผู้รักประชาธิปไตย ไม่ขอให้ความเห็นมากนัก พูดแต่เพียงว่า ทุกคนมีสิทธิ หน้าที่ แต่ต้องทำอย่างเหมาะสม โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ตนจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอน
เมื่อถามว่าหากวันที่ 2 กุมภาพันธ์มีเหตุรุนแรงขึ้นจะทำอย่างไร พล.ร.ต.นพ.สมยศ กล่าวย้ำจุดยืนคือ อย่างไรเสียก็จะไปเลือกตั้ง เพราะเป็นสิทธิพึงมี...
เป็นอีกมุมมองหนึ่งของแพทย์อีกกลุ่มที่น่าสนใจ และน่าจะเรียกสติกลับคืนมาได้ ในท่ามกลางสังคมที่มีความเห็นต่างสุดขั้วกันเช่นนี้
- 135 views