เมื่อวันที่ 26 ม.ค. เวบไซต์ประชาไท นำเสนอบทความดังนี้ แม้จะมีการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 115,773 คนแล้ว และยังเหลือผู้รอการจ้างอีก 24,261 คน แต่ก็ยังเป็นการใช้สัญญาจ้าง 4 ปี .. วันนี้ลองย้อนไปอ่านจดหมายลาตายของ ‘คณาพันธุ์ ปานตระกูล’ บุรุษที่ฆ่าตัวตายเมื่อ 7 ปีก่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิลูกจ้างชั่วคราว
บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (แต่ใช้สัญญาจ้าง 4 ปี)
ปลายเดือนมกราคม 2557 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ซึ่งมีสัญญาจ้าง 4 ปี ว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วจำนวน 115,773 คน คิดเป็นร้อยละ 83 ของลูกจ้างชั่วคราวที่มีทั้งหมด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นมา โดยมีวงเงินค่าจ้างที่จ้าง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ทั้งหมด 1,396 ล้านบาท จำนวนลูกจ้างที่จ้างแล้วใช้วงเงิน 1,269 ล้านบาท/เดือน ยังเหลืออีกประมาณ 144 ล้านบาท/เดือน และยังเหลือผู้รอการจ้างอีก 24,261 คนหรือร้อยละ 17
ซึ่งการจ้างครั้งนี้อาจยังไม่เต็มกรอบตามภาระงานที่แท้จริง เนื่องจากฐานการคำนวณกรอบช่วงแรกใช้ภาระงานของแต่ละวิชาชีพตามแผนพัฒนาระบบบริการในปี 2555 และใช้ฐานสำมะโนประชากรของปี 2553 ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงและไม่สอดคล้องกับภาระงานในปัจจุบัน ดังนั้น จึงให้เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต นำเสนออัตรากำลังที่ต้องการและสอดคล้องกับภาระงาน ในที่ประชุมคณะกรรมการพนักงานกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง เพื่อขยายกรอบอัตรากำลังภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกผู้แทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งมีทั้งหมด 16 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน และกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งอีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็น พกส.1 คน คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจ้าง ตลอดจนกำหนดลักษณะงาน คุณสมบัติ กำหนดอัตราค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ รูปแบบการจ้าง การประเมินผลและให้ความเห็นชอบในเรื่องกรอบอัตรากำลัง โดยมีวาระครั้งละ 2 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดระบบการจ้างที่เป็นธรรมและตรงกับข้อเท็จจริง
สำหรับการคัดเลือกผู้แทน พกส.นั้น ให้แต่ละเขตบริการสุขภาพ รวมทั้งกรุงเทพมหานครคัดเลือกผู้แทน พกส. แห่งละ 1 คน โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขแต่ละเขตเป็นประธาน หลังจากนั้นเมื่อได้ผู้แทนทั้ง 13 คนแล้ว จึงออกเสียงลงคะแนนอีกครั้ง ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปเป็นคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข มีวาระ 2 ปี ส่วนผู้ได้คะแนนรองลงมาจะขึ้นบัญชีตามลำดับคะแนนไว้ หากผู้แทนพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ จะเรียกผู้ที่ขึ้นบัญชีไว้มาปฏิบัติหน้าที่แทน การคัดเลือกจะทำโดยความเป็นธรรมและความโปร่งใส เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย
ได้มาจากการเรียกร้อง
ในรอบหลายปีที่ผ่านมาการเรียกร้องการจ้างงานที่มั่นคงในภาครัฐปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะพนักงานของกระทรวงสาธารณสุขที่มีความเคลื่อนไหวคึกคักอย่างยิ่ง
เช่นกรณีของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่ออกเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2555 ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาลของรัฐบาล ให้เป็นข้าราชการ เนื่องจากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวมีสวัสดิการและความมั่นคงไม่เท่าข้าราชการ แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดกรอบบรรจุเพิ่ม จึงเกิดการขาดแคลนพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ
ซึ่งจากสถิติระบุว่าในปีแรกจะมีพยาบาลจบใหม่มาทำงานในโรงพยาบาลของรัฐบาล และพบว่าพยาบาลลาออกไป 50% ปีที่ 2 ลาออกไปอีก 25% และปีที่ 3 จะเหลือพยาบาลวิชาชีพในระบบเพียง 25 % เท่านั้น เหมือนกับรัฐบาลจงใจผลิตพยาบาลที่มีประสบการณ์ให้เข้าทำงานในระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า
ส่วนภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยและสมาคมลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2555 ให้พิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวนอก 21 วิชาชีพ ประกอบด้วย
1.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขแก้ระเบียบการจ่ายเงินบำรุง ข้อ 9 ( 4 ) โดยเพิ่มคำว่า ให้สามารถจ่ายเงินหรือสวัสดิการต่าง ๆ ตามมติ ครม. ให้แก่ลูกจ้างได้โดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้
2.ขอให้กระทรวงฯพิจารณาจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยของลูกจ้างชั่วคราวนอก 21 สาขาวิชาชีพของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เดือนละ 2,500 บาท ซึ่งถูกตัดไปตั้งแต่ต้นปี 2548
3.ขอให้กระทรวงฯ พิจารณาจ่ายเงินค่าเวรบ่าย เวรดึก ของลูกจ้างชั่วคราวนอก 21 สาขาวิชาชีพ ซึ่งไม่เคยได้รับ
4.ขอให้พิจารณาจ่ายเงินตอบแทน P4P ซึ่งเป็นเงินบำรุงของโรงพยาบาลที่หักไว้ 10-40 เปอร์เซ็นต์ ช่วยเหลือบุคลากร และจะมีผลบังคับใช้แทนเงินตอบแทน ฉ.7 นั้น โดยขอให้ผู้บริหารกระทรวงมีระเบียบในการจ่ายเงิน P4P ให้แก่บุคลากรทุกกลุ่มด้วยความยุติธรรม ตามภาระของงาน ความรับผิดชอบ
5.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขบรรจุลูกจ้างชั่วคราวนอก 21 วิชาชีพ เป็นพนักงานราชการโดยผู้มีสิทธิบรรจุจะต้องมีอายุงานครบ 5 ปีขึ้นไป ตามมติ ครม. ของยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย
รวมทั้งข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมต่อจากนั้นมาอีก อาทิเช่น
1. ลูกจ้างชั่วคราวนอก 21 สาขาวิชาชีพ สายสนับสนุนที่ทำงานใน รพ.ของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด จะมีการจ้างวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี 9,000 บาทต่อเดือน ปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน จะนำอายุงานมานับในการเพิ่มเงินสวัสดิการลูกจ้าง ลูกจ้างคนใดทำงานมานานก็จะมีการเพิ่มเงินเดือนปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ ทุกปี
2. จะมีการจัดตั้งกองทุนเลี้ยงชีพ ซึ่งลูกจ้างออก 3 เปอร์เซ็นต์ กระทรวงเพิ่มให้อีก 3 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 6 เปอร์เซ็นต์
3. จะมีการต่อสัญญาจ้างทุก 4 ปี
4. สิทธิการรักษาพยาบาลครอบครัวสายตรง พ่อ แม่ ลูก รักษาพยาบาลฟรี
5. พนักงานกระทรวงสาธารณสุข จะมีสิทธิกู้เงินสถาบันการเงิน กู้เงินออมสิน กู้เงินสร้างบ้าน ซื้อรถคันแรก
6. เงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับบรรจุเป็นพนักงานราชการจะใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลในการจ้าง และกระทรวงฯจะส่งเงินมาเพิ่มให้ถ้าโรงพยาบาลใดไม่มีเงินจ้าง แต่จะระบุว่าเงินจำนวนนี้ใช้เป็นค่าจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ห้ามผู้บริหารนำไปใช้อย่างอื่นเด็ดขาด
7. เงินค่าเสี่ยงภัยของลูกจ้างชั่วคราว ในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ ขณะนี้กำลังประสานทางศูนย์ ศอบต. เพื่อขอเงินสนับสนุนลูกจ้างกลุ่มนี้อยู่ เพราะเงินบำรุงรพ.ที่มีอยู่ไม่พอจ่าย เลยไม่ได้จ่ายให้
8. เรื่องเพิ่มค่าเวรบ่าย เวรดึก จะพิจารณาดูระเบียบอีกครั้งว่าจะสามารถแก้ไขและช่วยเหลือได้อย่างไร
9. เงินตอบแทน P4P หรือเงินบำรุงโรงพยาบาลที่หักมา 10-40 % จะมาในรูปแบบภาระงาน และจำนวนงาน ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย
ทั้งนี้การรวมตัวการกดดันข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการหยิบยกปัญหาของลูกจ้างชั่วคราวในกระทรวงสาธารณสุขมาหารือและหาทางออกร่วมกัน แต่หากลองย้อนไปนานกว่านั้น เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เคยมีลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลรัฐ ฆ่าตัวตายโดยคาดหวังว่าการกระทำของเขาในครั้งนั้นจะทำให้ลูกจ้างชั่วคราวมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาคนนั้นชื่อ ‘คณาพันธุ์ ปานตระกูล’
ย้อนกลับไปอ่านจดหมายของ ‘คณาพันธุ์ ปานตระกูล’
คณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราววัย 37 ปี ของแผนกฟอกย้อมของโรงพยาบาลโพธาราม จ.ราชบุรี โดยเขาได้แขวนคอที่ห้องเช่าเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2550
คณาพันธุ์จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเคยทำงานเป็นหัวหน้ากัปตันโรงแรมแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี ได้เงินเดือนเกือบ 1 หมื่นบาท แต่ลาออกมาสมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว แผนกฟอกย้อม โรงพยาบาลโพธาราม ซึ่งมีเงินเดือนแค่ 5,000 บาทเศษ โดยหวังว่าอีกไม่นานจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ซึ่งจะมีสวัสดิการหลายอย่าง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว
แต่คณาพันธุ์ทำงานโรงพยาบาลโพธารามมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว แต่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ โดยทำงานในเวลา 8.00-16.00น. จันทร์-ศุกร์ และทำงานล่วงเวลาในวันเสาร์สลับอาทิตย์ มีหน้าที่ตรวจเช็คและส่งผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว ภายในตึกต่างๆ ของโรงพยาบาล
ทั้งนี้คณาพันธุ์ได้เขียนจดหมายทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ จดหมายลาที่เขียนถึงบุตรชาย (ขอสงวนไว้ไม่นำมาเผยแพร่ในรายงานข่าวนี้) ร่างจดหมายที่จะเขียนถึงนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง และจดหมายระบุเขียนถึงสหพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย
กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้บริหารของทุกโรงพยาบาล, และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือได้
กระผมนายคณาพันธุ์ ปานตระกูล ขอสละชีวิตตัวเองเพื่อขอให้พวกท่านมองเห็นคุณค่าของลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงาน มานานหรือลูกจ้างที่หลวมตัวเข้ามาทำงานโดยหวังว่า จะมีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ กระผมขอความอนุเคราะห์จากพวกท่านทั้งหลายช่วยคิดหาหนทางที่จะบรรจุลูกจ้าง ชั่วคราว ให้พวกคนเหล่านี้จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น บางท่านทำงานมา 5, 10, 15, 20 ปี หรือมากกว่านี้ ซึ่งงานที่ทำ กระผมคิดว่าไม่น่าที่จะเรียกงานชั่วคราว เป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ทำจนกว่าจะทำไม่ไหว เงินเดือนก็ไม่ขึ้น นานๆ ถึงมีขึ้นให้ ไม่กี่ร้อยบาท
กระผมคิดดูแล้ว แรงงานต่างด้าวยังมีหวังเงินขึ้น ทุก 6 เดือน หรือ 1ปีขึ้น 1 ครั้ง แต่ลูกจ้างชั่วคราวอย่างพวกกระผม แถบจะไม่มีหวังเลย แล้วไม่มีกฎหมายอะไรรับรองหรือระเบียบบังคับ
กระผมคิดว่า ถ้าทางรัฐบาลหรือทางกระทรวงสาธารณสุขกลัวสิ้นเปลืองงบประมาณ กระผมคิดว่า น่าจะมีทางออกที่ช่วยเหลือกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่น บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ แต่ครอบครัวเบิกค่ารักษาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ใช้สิทธิบัตรทอง ..สุขภาพถ้วนหน้าก็ได้ แต่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ตามความสามารถ ตามความขยัน หรือดูที่ผลงานก็ได้
หรือถ้าบรรจุให้ไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้ขึ้นเงินเดือนให้บ้างโดยเอาผลงาน ความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้งก็ได้ ใครไม่มีผลงานก็ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้
กระผมคิดว่าพวกท่านต้องมีความคิดที่ดีๆ กว่ากระผมแน่นอน หวังว่า พวกกระผมลูกจ้างชั่วคราวคงได้รับการช่วยเหลือ จากพวกท่านอย่างแน่นอน
ส่วนชีวิตของกระผมมีค่าไม่มาก กระผมยอมเสียสละได้ หวังว่า พวกท่านก้มหัวลงมามองลูกจ้างชั่วคราวบ้าง เพราะส่วนใหญ่เงินเดือนไม่พอใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัวอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน, ข้าวปลาอาหารพวกกระผมก็เติมหรือทานอาหารเดียวกับพวกท่านๆ ทั้งหลายเหมือนกัน
กระผมหวังว่าชีวิตของกระผมคงไม่เสียเปล่า ลูกจ้างชั่วคราวทุกท่าน คงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น จำไว้เลยว่า งานที่เราทำกันทุกๆ วันนี้ มันเป็นงานประจำ ไม่ใช่งานชั่วคราว
(ลาก่อนครอบครัวของกระผม)
คณาพันธุ์ ปานตระกูล
ส่งถึง สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย
เรื่อง เป็นคนตาย
การกระทำของกระผมในครั้งนี้ ถ้าท่านใดหรือหน่วยงานใดได้รับผลกระทบ กระผมขออโหสิกรรมไว้ด้วย
ถ้าหากเป็นไปได้กระผมอยากจะขอกราบเท้าท่านนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้อำนวยการ, ฝ่ายบริหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกโรงพยาบาลทุกท่านกระผมตอนยังมีชีวิตอยู่ กระผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับบุคคลรอบข้างน้อยมาก จึงคิดว่าถ้าตายไปคงจะมีประโยชน์กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยากสู้ชีวิตต่อไป ชีวิตของกระผมคงจะกระตุ้นพวกท่านให้อยากช่วยเหลือ หรือมีความอนุเคราะห์ พวกลูกจ้างชั่วคราวบ้าง
พวกท่านมีอำนาจ มีบารมี มีความรู้ พวกท่านคงมีหนทาง คิดพิจารณา หานโยบาย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างชั่วคราวให้มาก ขอความกรุณาเถอะครับ ลูกจ้างชั่วคราวบางคนทำงานมา 5 - 20 ปี เงินเดือน 5,360 บาท หักส่วนอื่นแล้ว เหลือประมาณ 4,900 บาท แต่ละเดือน ไม่พอใช้จ่ายหรอกครับ พวกกระผม ไม่มีกฎหมายรองรับ สู้แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้เลย พวกกระผมก็ต้องกิน ต้องใช้เหมือนพวกท่าน ต้องการความมั่นคงในชีวิต เหมือนพวกท่าน และที่สำคัญงานที่พวกผมกระทำ มันไม่ใช่งานชั่วคราว มันเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำจนตายอย่างนี้ ไม่น่าที่จะเรียกว่างานชั่วคราว ขอความกรุณาโปรดพิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวที่ยังอยากสู้ชีวิตต่อไปด้วยเถิด
* การตายของกระผมคงจะเป็นประโยชน์แด่ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหลายทุกโรงพยาบาล
* งานที่พวกเรากระทำไม่ใช่งานชั่วคราว
คณาพันธุ์ ปานตระกูล
- 125 views