Hfocus -27 มกราคม 2550 นายคณาพันธุ์ ปานตระกูล ลูกจ้างชั่วคราวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งของ จ.ราชบุรี  ได้เขียนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้บริหารของทุกโรงพยาบาล, และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเนื้อในจดหมายระบุว่า ขอสละชีวิตตัวเองเพื่อขอให้พวกท่านมองเห็นคุณค่าของลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมานานหรือลูกจ้างที่หลวมตัวเข้ามาทำงานโดยหวังว่า จะมีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ เนื้อในจดหมายยังประชดประชันเปรียบเทียบกับแรงงานต่างด้าวยังมีหวังเงินขึ้น ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปีขึ้น 1 ครั้ง ในขณะที่ลูกจ้างชั่วคราว แถบจะไม่มีหวังเลย อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายอะไรรับรองหรือระเบียบบังคับ ช่วงท้ายของจดหมายได้ตั้งความหวังเอาไว้ว่าการเสียสละชีวิตของนายคณาพันธ์คงไม่เสียเปล่า ลูกจ้างชั่วคราวทุกท่าน คงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น

2556 การต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยมีนายโอสถ สุวรรณเศวต ในฐานะรองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสสท.) กับนางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย แม้จะอยู่คนละหน่วยงาน แต่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนในเรื่องเดียวกัน คือ รวมตัวเรียกร้องเพื่อสิทธิ สวัสดิการ และการดูแลจากกระทรวงสาธารณสุขให้กับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ดีดตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน Hfocus ได้มีโอกาสพูดคุยถึงการต่อสู้ที่ยาวนานของทั้ง 2 ท่าน ซึ่งพูดตรงกันว่ามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 สมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสสท.)

โอสถ บอกว่า มีการรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมครั้งแรกที่ศาลาว่าการจังหวัดนครศรีธรรมราช หลัง จากหนังสือฉบับหนึ่งของกรมบัญชีกลางเมื่อปี 2547 ที่ให้เพิ่มค่าจ้างให้กับลูกจ้างของกระทรวงต่างๆ 120 กว่าบาทต่อคน ต่อเดือน ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น แล้วยังมาผิดหวังอีกครั้งเมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมาเกิน 5 ปี ให้เป็นพนักงานข้าราชการ แต่ทางกระทรวงออกมาระบุว่าไม่ครอบคลุมถึงลูกจ้างเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุข

“การเรียกร้องครั้งนั้นมีพี่น้องทยอยกันเข้ามาร่วม และเข้าไปร้องเรียนยังคณะกรรมการกิจการสาธารณสุขวุฒิสภา มีการไปยื่นหนังสือยังนายกฯ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) หลายฉบับ ท่านไปที่ไหนเราก็ไปดักเจอที่นั่น ก็ยังไม่ได้ผล มีการเคลื่อนไปที่ทำเนียบบ้าง กระทรวงฯ บ้างก็ได้เพิ่มค่าจ้างขึ้นมาครั้งละ 100 บาท 200 บาท จนมีการตกปากรับคำว่าจะเอาพวกเรา 2-3 หมื่นคนเข้าเป็นพนักงานราชการโดยเรื่องเข้าครม. เข้าคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรอง ที่มีวิษณุ เครืองาม เป็นประธานพิจารณา จนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น เรื่องนั้นก็เงียบหายไป ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาอีกเลย

ทำให้คุณคณาพันธ์ ปานตระกูล ซึ่งเป็นคณะทำงานของสมาพันธ์ฯ ต้องเขียนจดหมายประชดการทำงานของผู้หลักผู้ใหญ่ และแขวนคอตายที่อ.โพธาราม จ.ราชบุรี การเสียชีวิตของเขาเป็นการกระตุ้นให้พวกเรามีมุมานะในการขับเคลื่อนกันมากขึ้น แต่ก็แทบจะไม่ได้กระตุ้นจิตสำนึกของผู้บริหารเลย การเสียชีวิตของเขาเป็นที่รับรู้กันทั้งกระทรวง ตอนนั้นแม้แต่การไปวางหรีดของผู้ใหญ่ก็ไม่มี จนกระทั่ง 3 วันผ่านไปก็มีหมายส่งมาที่สำนักงาน ผมต้องโทรกลับไปถามที่ราชบุรีว่า จริงหรือไม่ที่คุณชนาพันธ์เขาแขวนคอตายเมื่อวันที่เท่านั้น เท่านี้ ผมเลยประสานไปยังกระทรวงว่าต้องจัดการเรื่องงานศพด้วย ไม่อย่างนั้นผมจะเอาจดหมายที่เขาเขียนไว้ พร้อมกับศพไปแห่ทั่วกรุงเทพ ปรากฏว่ามีหรีดบ้าง มีตัวแทนจากกระทรวงบ้างลงมาให้การดูแลตรงนี้และให้เงินชดเชยแก่ครอบครัวเขาจำนวนหนึ่ง” โอสถบอกเล่าให้ฟัง แถมยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า กระทรวงนี้เป็นกระทรวงที่แปลก เพราะถึงแม้มติครม.จะออกมาให้เพิ่มค่าจ้าง 3% - 5% แต่กระทรวงนี้ไม่ได้ดำเนินการปรับเพิ่มตามนโยบายของรัฐบาลใดเลยสักครั้งหนึ่ง ต้องให้พวกเราออกไปเดินตามถนน ชุมนุมเรียกร้องทุกครั้งถึงจะยอมปรับให้

นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย

เช่นเดียวกันกับกนกพร ลูกจ้างชั่วคราวของโรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา ที่เข้าทำงานที่นั่นมาตั้งแต่ปี 2526 ตอนเป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อสิทธิของลูกจ้างชั่วคราวมาตั้งแต่แรกพร้อมกับเพื่อนๆ โดย ประมาณวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ได้ทำเรื่องยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสมัยนั้น เรียกร้องให้บรรจุน้องๆ เป็นพนักงานราชการ ตั้งแต่นั้นมาก็วิ่งเรื่องนี้มาตลอด มีการประสานไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองเรื่องการบรรจุลูกจ้างเป็นพนักงานราชการ โดยในวันนั้นมีนักกฎหมายจากสำนักงานประกันสังคมร่วมด้วย แต่ไม่มีตัวแทนของฝั่งกระทรวงสาธารณสุข

“วันนั้นได้รับการชี้แจงว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) กระทรวงการคลังว่าจะขอดูแลและจัดจ้างลูกจ้างกลุ่มนี้เองโดยให้เงิน ให้สวัสดิการต่างๆ เอง เพราะฉะนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขไม่มีสิทธิมาโทษ กพ.หรือกระทรวงการคลังเพราะคุณไม่เคยเสนอเรื่องนี้เข้ามาหาเขาเลย”

อย่างไรก็ตาม ทางภาคียังได้ต่อสู้เรียกร้องมาตลอด ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น และท่านก็นำเรื่องการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานราชการเข้า ครม. โดยจากการสำรวจคร่าวๆ พบว่าลูกจ้างชั่วคราวกระทรวงสาธารณสุขมีประมาณ 3 หมื่นคน แต่ กระทรวงฯ ได้ทำเรื่องขอไป 8 หมื่นตำแหน่ง ทาง ครม.มีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรตีกลับมาว่าอนุมัติให้ได้แค่ 5 หมื่นตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องไปใหม่ และหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำเรื่องไปใหม่แล้วนั้น ครม.ก็อนุมัติตำแหน่งให้ประมาณ 3 หมื่นตำแหน่ง

“หลังจากนั้นกระทรวงได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวเพื่อให้ทราบว่าจะนำตำแหน่งที่ได้ไปบรรจุกลุ่มที่เป็นนักเรียนทุนให้ได้ครบ 100% ก่อน ที่เหลือค่อยนำมาให้กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ตรงนี้จุดนี้เป็นเหตุให้มีลูกจ้างชั่วคราวคนหนึ่งตัดสินใจผูกคอตายในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา โดยทิ้งจดหมายต่อว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ว่าเป็นผู้ที่เรียกร้องตำแหน่งพนักงานราชการมาได้ แต่แทนที่จะให้กับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวผู้ที่ทำการเรียกร้องกลับนำไปให้นักเรียนทุน เป็นความน้อยใจ ซึ่งตอนที่ไปร่วมงานศพนั้นได้พบกับลูกชายอายุของผู้ตายอายุ 11 ขวบนั่งบวชที่หน้าศพพ่อของเขา”

กนกพร ยืนยันว่าการขับเคลื่อน เรียกร้องที่ยาวนานนั้นทำด้วยตัวเองไม่ได้รับทุนสนับสนุนจากใครทั้งนั้น จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ 10 ปี รูปแบบการบริหารงานของกระทรวงก็ยังเหมือนเดิม จนทำให้บางครั้งลูกจ้างบางคนมองว่ามีการสร้างเรื่องให้กลุ่มลูกจ้างทะเลาะกันเอง เป็นยุทธศาสตร์แยกคนแยกพลัง จนมีการแยกตัวออกมาตั้งเป็นภาคี ทำงานโดยใช้หนังสือนำ ใช้หนังสือในการประสาน ส่วนสมาพันธ์ฯ ก็เล่นบทบู๊ มีม๊อบกันไป เหมือนสนับสนุนให้ตีกันเอง ตรงนี้มีปัญหามาตลอด เพิ่งจะมาเข้ารูปเข้ารอยในชุดนายวิทยา บุรณศิริ จนถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรี

“ถามว่าท้อไหม ไม่เคยท้อ แต่เหนื่อย เพราะโดนบีบคั้นตลอดจากผู้บริหารองค์กร แต่พยายามเป็นหลักให้น้องๆ และการขับเคลื่อนครั้งนี้ก็เชื่อว่าน่าจะได้อย่างที่เรียกร้อง มั่นใจ อยากให้ผู้บริหารสูงสุดเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขซึ่งกันและกัน หยิบเข่งของลูกจ้างกลุ่มที่เดือดร้อนมาดูบ้าง ไม่ใช่ยกเป็นแข่งใหญ่มา ทำเป็นขั้นบันได  

เราเรียกร้องไม่ได้หวังว่าจะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพียงแต่อยากได้สวัสดิการเพิ่มขึ้น คือเปลี่ยนชื่อไปแล้วสวัสดิการไม่เพิ่มขึ้นจะเปลี่ยนไปทำไม คือพอเป็นลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขถามว่าลูกจ้างได้อะไรไหม ไม่ได้ หรือได้น้อยมาก คือเขาเอาไปโยงกับนักเรียนทุน สหวิชาชีพ ผลประโยชน์จะตกตรงนั้นเยอะ แต่ลูกจ้างตรงนี้ได้อะไรบ้าง เพียงเปลี่ยนชื่อเพิ่ม 5% 10% เราบางคน คนเก่าเพิ่ม 2% คนสูงสุดได้เพิ่ม 1,700 เราก็ไปขอว่าขอยึดเงินเดือนเดิมท่านรัฐมนตรี ท่านปลัดก็โอเค แต่เป็นเงินพิเศษ 10% และเงินพิเศษนี้ต้องไปให้นักเรียนทุน ไปให้สหวิชาชีพเดือนละเยอะ และที่เร่งด่วนที่อยากได้คือเงินค่าเสี่ยงภัยของน้องๆ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรียกร้องมา 10 ปี แต่ก็บอกว่าติดระเบียบข้อที่ 9 (4) จ่ายได้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ก็ทำหน้าที่ไปที่กระทรวงฯ ก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของศอบต. พอทำหนังสือถึง ศอบต.ก็บอกว่าเป็นหน้าที่กระทรวงฯ โยนกันไปโยนกันมา เงินค่าเสี่ยงภัยก็รอมาจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เลย แม้แต่เงินค่าเวรบ่าย เวรดึกก็ไม่ได้”