แนวหน้า - นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสธ. กล่าวว่าจากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในรอบ 24 ชั่วโมง ทั้งในพื้นที่กทม. และในภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 3 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ และพิษณุโลก ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงแก่ชีวิต แผนการที่ได้จัดเตรียมไว้รับมือได้ โดยมีผู้บาดเจ็บที่เกิดขึ้นในโซนที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบในกทม. คือที่ 5 แยกลาดพร้าว และที่แยกปทุมวัน รวม 2 ราย นำส่งรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และที่โรงพยาบาลเปาโล รักษาแล้วให้กลับบ้าน ได้นำส่งผู้ร่วมชุมนุมไปโรงพยาบาล 1 ราย อายุ 87 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เกิดภาวะแทรกซ้อน แผนการดูแลจึงคงใช้แผนดูแล ต่อเนื่องเช่นเดิม ตามแผนเอราวัณ 2 โดยในพื้นที่กทม. ที่จุดชุมนุม 6 จุดที่อยู่ในความดูแล ได้จัดทีมปฐมพยาบาล จากมูลนิธิร่วมกตัญญู และป่อเต็กตึ๊งดูแลทั่วๆ ไป และมีทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงดูแลส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรวม 13 ทีม ประกอบด้วยทีมจากส่วนภูมิภาค 9 ทีม ทีมกรมการแพทย์ 2 ทีม รพ.รามาธิบดีและรพ.พระมงกุฎเกล้า แห่งละ 1 ทีม และได้เตรียมทีมจาก 5 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี มาสับเปลี่ยนกำลังจากทีมเดิมที่จะหมดภารกิจในพรุ่งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่กทม.มีความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ได้เตรียมแผนดูแลผู้ชุมนุม ซึ่งเดินทางไปตามกระทรวงต่างๆ ในพื้นที่กทม. และนนทบุรี ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน มีกทม. เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ได้ให้กรมการแพทย์ประสานการทำงานกับกทม.อย่างใกล้ชิด ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี ได้จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงจากรพ.พระนั่งเกล้า และปทุมธานี ดูแล
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองรวมทั้ง ข่าวสารต่างๆ ของการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่าง ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาจก่อผลกระทบภาวะความตึงเครียดของประชาชนได้ โดยเฉพาะประชาชน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากปกติทำให้เกิดความเครียด จึงขอแนะนำให้บริหารเวลาเพื่อให้จัดการการดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่เฝ้าติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่รับทราบข่าว อาจเกิดความกังวลใจในสถานการณ์ว่าจะเกิดความรุนแรง ขอแนะนำให้ใช้เวลาในการทำสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะการพูดคุย ขอแนะนำว่าให้คุยกับคนที่คุยกันถูกคอหรือคนคอเดียวกัน เพื่อระบายความรู้สึก หรือความอึดอัดไม่สบายใจให้ลดลง แต่จะต้องระมัดระวังในการสร้างอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด กดดันกับคนที่มีความเห็นแตกต่างมากขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้อึดอัดใจ มากขึ้น และควรหาวิธีในการผ่อนคลายตนเองอื่นๆ เช่นทำงานอดิเรก ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยสลัดความเครียดออกไปได้และนอนหลับดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จะต้องดูแลภาวะอารมณ์มากขึ้นเพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วย และให้กินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยควบคุมอาการไม่ให้ผิดปกติ
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 17 มกราคม 2557
- 2 views