โพสต์ทูเดย์ -จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ไปกินดีหมีมาจากไหน ถึงได้ใจกล้า ประกาศจุดยืนตัวเองชัดว่าไม่เอารัฐบาลชุดนี้อีกแล้ว ในการประชุมประชาคมสาธารณสุขเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งที่ผ่านมา ปลัดณรงค์เป็นมือไม้สำคัญให้กับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ. มาโดยตลอด ไม่ว่าจะนโยบายอะไรที่หมอประดิษฐประกาศใช้ล้วนมาจากโรดแมป ที่ปลัดณรงค์เป็นคนวางแผนไว้ ตั้งแต่ขึ้นชิงตำแหน่งปลัดกระทรวงกับ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ เมื่อปี 2555 ด้วยซ้ำ!
ไม่ว่าจะเป็นการทวงคืนอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขด้วยการลดบทบาทองค์กรอิสระสังกัด สธ. (องค์กรตระกูล ส.) การปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยเปลี่ยนการบริหารจัดการไปอยู่ภายใต้ผู้ตรวจราชการฯ หรือที่เรียกแขกมากที่สุดอย่าง การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (พีฟอร์พี) ที่ทำเอาทั้งสองหมอถูกชมรมแพทย์ชนบทขับไล่อย่างหนักหน่วงล้วนมาจากความคิดของปลัดณรงค์ทั้งสิ้น
ขณะที่ หมอประดิษฐ พกพาความสามารถในด้านธุรกิจ คิดและตัดสินใจเร็วมาก่อน บวกกับเคยรับราชการใน สธ.มาแล้ว เมื่อได้หมอณรงค์ที่วิธีคิดตรงกันมาเป็นมือไม้คอยรันนโยบายให้ก็ทำให้รัฐมนตรีประทับใจในความสามารถปลัดณรงค์อย่างรวดเร็ว
วันที่หมอประดิษฐโดนโจมตีหนัก ปลัดณรงค์ก็ถูกโจมตีด้วย ซ้ำหลายครั้งยังต้องทำหน้าที่ชี้แจงแทนรัฐมนตรีและฝ่ายการเมืองเพราะเครดิตความเป็นข้าราชการประจำย่อมดีกว่ารัฐมนตรีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมือง ทำให้ 1 ปีของการดำรงตำแหน่งของปลัดณรงค์และหมอประดิษฐเอาตัวรอดไปได้พอถูไถ แม้ว่าคู่แค้นอย่าง "ชมรมแพทย์ชนบท"จะเดินหน้าไล่ทั้งคู่มาตลอดก็ตาม
เพราะฉะนั้น ปมที่ทำให้หมอณรงค์ตัดขาดกับหมอประดิษฐจึงไม่ใช่แค่ว่า หมอณรงค์ฝักใฝ่กับ กปปส.หรือไม่ แต่น่าสนใจว่า หมอประดิษฐทำอะไรให้ปลัดณรงค์ต้องตัดสินใจใส่คอนเวิร์ส เดินแยกจากกัน
จับนัยสปีชของปลัดณรงค์เมื่อวันที่12 ม.ค.ยิ่งน่าสนใจ โดยเฉพาะท่อนที่ว่า "ไม่ว่าผมจะถูกปลดหรือไม่ ก็ได้ตัดสินใจไปแล้ว ตั้งแต่วันที่เดินออกมา เพราะผมคือนายณรงค์ หวังว่าไม่ว่าใครจะเป็นปลัดก็ตาม หากนำโดยไม่มีธรรมาภิบาล ประชาคมสาธารณสุขคงไม่ยอมอยู่แล้ว"
ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ปลัดณรงค์รู้แน่นอนว่าการตัดสินใจ "สละเรือ" วันนี้ ย่อมไม่มีคำว่าพลาด เพราะขณะนี้รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการปลดหรือย้ายออกจากตำแหน่ง แต่ทว่าการบริหารงานใน สธ.ก็ยากเช่นเดียวกัน เนื่องจากรองปลัดและอธิบดีส่วนใหญ่มีที่มาที่ไปจากฝ่ายการเมืองในพรรคเพื่อไทยชัดเจน
ทั้งรองปลัดฯ อย่าง นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ นพ.อำนวย กาจีนะ หรือผู้บริหารอื่นๆอย่างนพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยแม้กระทั่ง นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่เป็นหลานเขยและเป็นแพทย์ประจำตัวของป๋าเหนาะ-เสนาะ เทียนทอง การตัดสินใจร่วมหอลงโรงกับ กปปส. ย่อมเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้ปลัดณรงค์บริหารงานใน สธ.อย่างยากลำบาก เพราะตัวเขาเองยังเหลืออายุราชการอีกเกือบ 2 ปี
แต่ปลัดณรงค์ก็ใจชื้นขึ้น เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ระดับอดีตปลัดกระทรวงหลายคนสนับสนุนในการตัดสินใจ ไล่ตั้งแต่ นพ.อมร นนทสุต นพ.มงคล ณ สงขลา นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ นพ.ไพจิตร์ วราชิต รวมถึงผู้มีอิทธิพลในแวดวงสาธารณสุขอีกหลายคนร่วมโทรมาแสดงความยินดี
ส่วนชมรมแพทย์ชนบทนั้น แม้หลายคนจะออกมาสนับสนุนเป็นแนวร่วม แต่ก็เป็นไปเพราะขณะนี้มีเป้าใหญ่เดียวกัน คือล้มระบอบทักษิณ แต่โดยภาพรวมก็ยังไม่ไว้ใจปลัดที่เป็นคู่ต่อสู้กันมานานกว่า 2 ปีอยู่ดี
เมื่อเป็นเช่นนั้นหมอประดิษฐแก้เกมทันทีด้วยการตั้งคณะกรรมการรับมือวิกฤต "ชัตดาวน์ กทม." ซึ่งเป็นงานหลักของ สธ.ด้วยการตั้ง นพ.ชาญวิทย์ เป็นหัวหน้าทีมมอนิเตอร์สถานการณ์และมีอธิบดีทุกกรมเป็นคณะทำงาน ทว่ากลับไม่มีชื่อนพ.ณรงค์ รวมถึง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ที่อยู่ในประชาคม สธ.กับ นพ.ณรงค์ อยู่ในหนังสือดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คนที่มีอำนาจในมือแท้จริงในการสั่งข้าราชการประจำยังคงเป็น นพ.ณรงค์ ที่ยังสวมหมวกปลัด สธ.อยู่ จึงตามมาด้วยการยึดอำนาจคืน ตั้ง นพ.วชิระ และ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ สองรองปลัดคู่ใจ ให้มีอำนาจเต็มในการคุมเขตสุขภาพอีกครั้ง รวมถึงเรียกอธิบดีทุกกรมประชุม "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" ด้วยตัวเอง
ผลกลับกลายเป็นว่าผู้บริหาร สธ.เข้าประชุมกันพร้อมหน้า ยกเว้นรองปลัดที่หมอประดิษฐแต่งตั้ง และอีกสองอธิบดีที่ไม่แน่ใจว่าติดภารกิจจริงหรือไม่ยอมรับอำนาจปลัด อีกแล้ว ผู้บริหารระดับสูงหลายคนบอกว่า หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรปลัดเชิญก็ต้องเข้าประชุม เพราะระเบียบราชการระบุชัด คำสั่งของปลัดกระทรวงฯ ถือว่าเด็ดขาด และในขณะนี้ นพ.ณรงค์ ยังมีอำนาจเต็ม
ส่วนอำนาจของรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมืองนั้น เป็นเรื่องการวางนโยบายเท่านั้นไม่สามารถสั่งข้าราชการประจำได้ หากรัฐมนตรีจะใช้อำนาจก็ต้องใช้ผ่านปลัด
การประกาศตัวครั้งนี้จึงสะท้อนชัดว่า ปลัดณรงค์ได้ทำรัฐประหารในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และก็ถือเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งเมื่อผู้บริหารระดับสูงยังคงยอมรับในอำนาจของเขาและตัวปลัด เองก็เล่นเกมเป็น เนื่องจากหลังจากวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ปลัดณรงค์เลิกพูดเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและเดินหน้าทำงานรับมือสถานการณ์ทุกวัน ไม่ได้ชัตดาวน์ตัวเองอย่างที่ กปปส.สั่งการ หรืออย่างที่แพทย์พยาบาลหลายคนทำ
ขณะที่สถานะของรัฐมนตรีอย่างหมอประดิษฐนั้นมีก็เหมือนไม่มี เพราะถูกรัฐประหารอำนาจเต็มไปแล้ว!
โมเดลนี้จึงเป็นโมเดลที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ย้ำนักย้ำหนาว่าอยากเห็นกระทรวงอื่นเดินตามและล้มอำนาจรัฐมนตรีให้ได้ เพื่อให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถสั่งซ้ายหันขวาหันข้าราชการได้อีก เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวไปโดยปริยาย
แม้จะยังไม่มีใครขานรับในเวลานี้ แต่เชื่อว่าสุเทพเองก็คงมีความหวัง เมื่อได้เห็นกำนันผู้ใหญ่บ้านจากหลายจังหวัดพาเหรดขึ้นเวที กปปส.ขณะที่เมื่อวันที่14 ม.ค.ที่ผ่านมาก็มีเซอร์ไพร์สอย่าง รอง ผวจ.ภูเก็ต ประกาศตัวสนับสนุนแนวทางของสุเทพ รวมถึงบิ๊กเซอร์ไพรส์อย่าง กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ออกมายอมรับว่าการเลือกตั้งจะไม่แก้ปัญหาอะไรหากยังไม่มีการปฏิรูปอย่างไรก็ตาม ปลัดกิตติพงษ์ยังได้ออกข้อเสนอแก้ปัญหาที่น่ารับฟังและเป็นกลางพ่วงไว้ด้วย
หากมองย้อนไปในอดีต จะพบว่าข้าราชการเป็นกลุ่มคนที่รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง และรู้ทางลมมากที่สุด เมื่อใดก็ตามที่ข้าราชการเริ่มออกสละเรือ ก็แปลว่าคนเหล่านี้รู้ดีว่าพายุใหญ่ใกล้มาถึงแล้ว
นาทีนี้น่าสนใจและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีใครสละเรือ ทำการรัฐประหารอำนาจการเมืองแบบณรงค์โมเดลอีกหรือไม่ ?
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 มกราคม 2557
- 11 views