แนวหน้า - "ตำแหน่งปลัดกระทรวงเป็นตำแหน่งหัวโขน ผมตัดสินใจไปแล้วครอบครัวผมเห็นด้วยทั้งหมด ณ วันนี้ครอบครัวสาธารณสุขก็หวังว่าจะเห็นด้วยกับผม ตำแหน่งอะไรไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าคิดอะไร หัวใจคืออะไร"
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ นสพ.เดลินิวส์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา ต่อกรณีกระแสข่าวว่าอาจถูกปลดจากตำแหน่ง หลังจากออกมาประกาศจุดยืนร่วมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และระบอบทักษิณ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากเครือข่ายด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ จนเกิดเป็นการเดินขบวนแสดงพลัง เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2556 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม นพ.ณรงค์ ไม่ใช่คนแรกในหมู่บุคลากรด้านสาธารณสุข ที่ประกาศต่อต้านระบอบทักษิณ เพราะหากใครที่ติดตามข่าวการเมืองมาโดยตลอด จะพบว่าเครือข่ายแพทย์-พยาบาล หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้าน ส่งเสริมสุขภาพต่างๆ ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมา มีวิวาทะกับรัฐบาลระบอบทักษิณมาตั้งแต่เมื่อครั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบันที่พรรคเพื่อไทย อันถือเป็นรุ่นที่ 3 ของระบอบทักษิณได้ครองอำนาจ
ม.ค. 2549 ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกรัฐประหารในอีกไม่กี่เดือน ข่าวหนึ่งที่ฮือฮาในยุคนั้นคือรัฐบาลไทยพยายามจะไปลงนามเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงทักท้วงของเครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์ ที่มองว่าจะทำให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงต่างๆ ที่มีรายได้น้อยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น ด้วยข้อจำกัดด้านสิทธิบัตรยา
เห็นได้ชัดคือหน่วยงานท้องถิ่นจะไม่สามารถผลิตและจำหน่ายยาชื่อสามัญ ซึ่งจะมีราคาถูกกว่ายาต้นตำรับที่มียี่ห้อได้ เพราะติดข้อจำกัดทั้งการห้ามนำสูตรยาที่มีสิทธิบัตรมาผลิตเพื่อทดสอบหรือวิจัย เพราะ FTA กำหนดให้หากจะผลิตต้องทำเพื่อจำหน่ายเท่านั้น หรือหากเกิดโรคระบาดที่ต้องใช้ยาเป็นจำนวนมาก รัฐบาลท้องถิ่นจะไม่สามารถให้ผู้ผลิตรายอื่นช่วยผลิตยา และไม่สามารถแม้กระทั่งนำเข้ายาแบบเดียวกันจาก ประเทศอื่นๆ ที่มีราคาถูกกว่าได้
ทั้งนี้ CL (Compulsory Licensing) เป็นข้อตกลงที่มีการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่แม้จะเน้นคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่สินค้าบางประเภทที่จำเป็นกับประชาชน เช่น อาหารและยา รัฐบาลแต่ละประเทศอาจใช้หลัก CL เพื่อเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว และนำไปให้ผู้ผลิตรายอื่นรวมถึงหน่วยงานของรัฐเองผลิตได้ ตามหลักมนุษยธรรมที่ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนเช่นไร ก็ควรมีสิทธิ์เข้าถึงปัจจัย 4 อันเป็นความจำเป็นพื้นฐานที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน
ต่อมาในยุคของ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชาชน อันเป็นรุ่นที่ 2 ในเครือระบอบทักษิณ เมื่อปี 2551 ครั้งนั้น นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศจะทบทวนการใช้หลักบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ที่รัฐบาลก่อนหน้า (รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากรัฐประหาร) ได้ทำไว้ในปี 2550
จากนั้นในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ประกาศไม่ต่อสัญญา นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธานกรรมการบริหาร (บอร์ด) ด้วยสาเหตุคือ นพ.วิทิตไม่ได้ใช้ศักยภาพ เต็มที่ในการบริหารงาน ก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีโรงงานวัคซีน การสำรองวัตถุดิบผลิตพาราเซตามอล จึงมีมติเอกฉันท์ให้หยุดสัญญาว่าจ้าง
เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ลงข่าวรายงานพิเศษ "ชัยชนะของบริษัทยาข้ามชาติ เด้งหมอวิทิตพ้นองค์การเภสัชฯ" เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2556 ตั้งข้อสังเกตถึง ความไม่ชอบมาพากลกับข้อกล่าวหานี้ เพราะองค์การเภสัชฯ ในปี 2550 ที่หมอวิทิตเข้ามาเป็นผู้อำนวยการนั้นมียอดขายปีละ 5,449 ล้านบาท และเพิ่มปีละนับพันล้านจนปี 2554 เพิ่มขึ้นมาเป็น 11,455 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในเวลาเพียง 5 ปี
แต่เพราะว่าการมีกำไรขององค์การเภสัชกรรมนี่เอง ทำให้ไปขัดผลประโยชน์กับบรรดาบริษัทยาข้ามชาติ จนนำมาสู่การปลด นพ.วิทิต ดังกล่าว ทั้งนี้ก็สอดคล้องกับสื่อต่างชาติบางสำนัก ที่วิเคราะห์ว่าเครือข่ายระบอบทักษิณนั้นสมคบคิดกับเครือข่ายทุนนิยมข้ามชาติเพื่อยึดครองประเทศไทย
อีกด้านหนึ่ง มีข้อกล่าวหาจากมวลชนฝั่งที่สนับสนุนรัฐบาลและระบอบทักษิณ ว่าเหตุที่คนเครือข่ายสาธารณสุขออกมากันมาก เพราะคนเหล่านี้เสียผลประโยชน์จากนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) และการจ่ายเงินพิเศษตามผลงาน (P4P) ให้กับแพทย์ชนบท ทำให้ไม่สามารถทำงานแบบเช้าชามเย็นชามได้
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงข้อกล่าวหาทั้ง 2 ประเด็นไว้ดังนี้ ในส่วนของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แม้เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่มีการพัฒนาระบบให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการให้เงินชดเชยที่น้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนจริง
"ค่าตอบแทนโครงการ 30 บาท มันก็เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเปรียบเทียบรัฐบาลที่คุณทักษิณดูแล รวมทั้งยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาล อื่นๆ มันไม่เพิ่มเท่าที่ควร คือเขาทำแล้ว ติดตลาดแล้ว เลยไม่ดูแลฟูมฟักให้มีคุณภาพดีต่อไป โรงพยาบาลต้องสร้างตึก ซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ จ้างกำลังพล ตรงนี้ เขาไม่ค่อยได้ให้เลย อันนี้ผมเรียกว่าทำแล้วทิ้ง เพราะชาวบ้านติดใจนโยบายนี้แล้ว ก็ไปทำอย่างอื่นต่อ"
อดีตเลขาธิการ อย. กล่าว และอธิบายต่อไปว่า สำหรับกรณีแพทย์ชนบทนั้น ต้องยอมรับว่าแม้ รพ.ในชนบทจะ ดีขึ้น แต่เครื่องมือต่างๆ ก็ยังไม่พร้อมเท่า รพ. ในตัวเมืองหรือใน กทม. และการเดินทางก็ไม่สะดวกเท่า ดังนั้นการมีค่าตอบแทนพิเศษที่เหมาะสม จะช่วยดึงให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าว ยินดีอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานๆ แทนที่จะคิดแต่เพียงใช้ทุนหลังเรียนจบให้หมดแล้วก็จากไป
แต่กับการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ (P4P) ที่จ่ายตามผลงาน เป็นลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับงานของบุคลากร ทางการแพทย์ เพราะต้องมาไล่บันทึกว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ทำให้ทำลายจรรยาบรรณของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรักษา ผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เนื่องจากอาจมีผู้หาทางทุจริตเพื่อให้ได้เงินส่วนนี้มากๆ เป็นต้น
"เรื่องการจดแต้ม มันไม่ใช่วิถีปฏิบัติ อย่างทำแผลทีนึงก็มาจดแต้ม จริงๆ เราต้องรักษาจรรยาวิชาชีพด้วย คือต้องรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดให้หาย ไม่ใช่ทำแผลทีนึง เช็ดก้นทีนึงแล้วจดแต้ม มันก็จะมีวิธีทำเพื่อให้ได้เงินแต่ไม่ได้คุณภาพ ทีนี้แพทย์ส่วนนึงเขาก็ไม่ชอบ โรงพยาบาลเอกชนก็ดึงตัวไป"
นพ.ศิริวัฒน์ อธิบายทิ้งท้าย และย้ำว่าปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ รพ.เอกชนขนาดใหญ่กำลังเฟื่องฟูมาก เห็นได้จากการไปซื้อ รพ.เอกชนขนาดเล็กตามพื้นที่ต่างๆ ที่เจ้าของเดิมขาดทุน จากนั้นก็ดึงบุคลากรจาก รพ.ของรัฐ ที่ไม่พอใจต้นสังกัดเดิมของตนไปทำงานยัง รพ.เอกชนเหล่านั้น พร้อมตั้งคำถามว่า.. นี่เป็นการ "คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" หรือไม่? และที่เป็นตลกร้าย คือรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร (ทั้งพล.อ.สุรยุทธ์ และนายอภิสิทธิ์) กลับมีนโยบาย ให้คนรายได้น้อยเข้าถึงการแพทย์ที่มีคุณภาพ (CL ยาและเพิ่มเงินอุดหนุนโครงการหลักประกันสุขภาพ) ขณะที่รัฐบาลที่อ้างว่ามาจากประชาธิปไตยเต็มร้อย และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ กลับมีพฤติกรรมทอดทิ้งนโยบายดีๆ ของตนที่เคยทำไว้ หรือ ร้ายกว่านั้นคืออาจถึงกับจะทำลายเสียด้วยซ้ำไป
ทำให้ไม่ต้องแปลกใจ..เหตุใดคนวงการสาธารณสุข จึงกลายเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ประกาศชนกับระบอบทักษิณ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 15 มกราคม 2557
- 298 views