นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในรอบ 24ชั่วโมง ทั้งใน กทม.และภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 3จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ และพิษณุโลก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงแก่ชีวิต โดยแผนการที่ได้จัดเตรียมไว้รับมือได้ โดยมีผู้บาดเจ็บ ในกทม.คือที่ห้าแยกลาดพร้าว และที่แยกปทุมวัน รวม 2ราย นำส่งรักษาที่ รพ.ตำรวจ และ รพ.เปาโล รักษาแล้วให้กลับบ้านได้ นำส่งผู้ร่วมชุมนุมไปโรงพยาบาล 1ราย อายุ 87ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เกิดภาวะแทรกซ้อน

ซึ่งการดูแลจะใช้ตามแผน “เอราวัณ 2” โดยพื้นที่ กทม. จุดชุมนุม 6จุด ที่อยู่ในความดูแล ได้จัดทีมปฐมพยาบาลจากมูลนิธิร่วมกตัญญูและปอเต็กตึ้ง ดูแลทั่ว ๆ ไปและมีทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง ดูแลส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรวม 13ทีม ประกอบด้วยทีมจากส่วนภูมิภาค 9ทีม ทีมกรมการแพทย์ 2ทีม รพ.รามาธิบดี และรพ.พระมงกุฎเกล้า แห่งละ 1ทีม และได้เตรียมทีมจาก 5จังหวัด ได้แก่ นครนายก ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี มาสับเปลี่ยนกำลังจากทีมเดิมที่จะหมดภารกิจในวันที่ 15ม.ค.นี้

นอกจากนี้ได้เตรียมแผน สำหรับดูแลผู้ชุมนุมที่จะเดินทางไปตามกระทรวงต่าง ๆ ในพื้นที่กทม. และนนทบุรี ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงแรงงาน ซึ่งมี กทม.เป็นผู้รับผิดชอบโดยให้กรมการแพทย์ประสานการทำงานกับ กทม.อย่างใกล้ชิด ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี ได้จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงจาก รพ.พระนั่งเกล้า และปทุมธานี ดูแล

อย่างไรก็ตามช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงอาจมีผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมป่วยเป็นไข้หวัดหรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ง่ายจึงขอให้ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมดูแลสุขภาพตนเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าชุมนุมหักโหม ดื่มน้ำให้อย่างน้อยวันละ 6-8แก้ว และให้กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อโรคออกไปจากมือได้มาก และหากป่วยเป็นไข้หวัด ให้ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค