เด็กไทยเกิดใหม่ปีละ 7 แสน มีเด็กก่อนวัยเรียนรวมเกือบ 4 ล้านคน สธ.ห่วงฝากศูนย์เด็กเล็ก แพร่กระจายเชื้อโรคสู่กันง่าย สั่งเข้มควบคุมหวัด มือเท้าปาก สุกใส ตาแดง ท้องร่วง หวังช่วยเด็กปฐมวัยมีสุขภาพกายใจที่ดีลดอุบัติการณ์เกิดโรค
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าแต่ละปีไทยมีเด็กเกิดใหม่กว่า 7 แสนคน ทำให้มีเด็กก่อนวัยเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 4 ล้านคน จำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กอายุระหว่าง 2-2 ปีครึ่ง ร่วมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ทำให้สภาพครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กต้องทำงานนอกบ้าน ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรหลานตนเองในช่วงเวลากลางวัน เด็กกลุ่มนี้จึงถูกนำไปฝากเลี้ยงในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาลจำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก และมีมากกว่า 19,000 แห่ง ผลที่ตามมาคือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลจึงเป็นสถานที่เด็กจำนวนมากอาศัยอยู่รวมกัน เมื่อเด็กคนใดคนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อ ซึ่งการเจ็บป่วยหรือโรคติดต่อนี้ก็จะแพร่กระจายไปสู่เด็กคนอื่นๆ ได้ง่าย และรวดเร็ว ทำให้เด็กต้องหยุดเรียนจำนวนมาก ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายวัน หรือแม้กระทั่งปิดโรงเรียนชั่วคราว เพื่อทำความสะอาดและเพื่อลดปัจจัยที่จะนำไปสู่การระบาดมากยิ่งขึ้น เช่น การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เป็นต้น
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อปี 2552 สธ.โดยกรมควบคุมโรค จึงริเริ่มดำเนินการนำร่องศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคใน 4 จังหวัด โดยจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ต่อมาในปี 2554 มีศูนย์เด็กเล็กที่เข้าโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค กรมควบคุมโรค มากกว่า 1 หมื่น 6 พันแห่ง (ร้อยละ 84 จากศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นแห่ง) จากการติดตามและประเมินผลพบว่าศูนย์เด็กเล็กที่เข้าร่วมโครงการประเมินผ่านเกณฑ์มากกว่าครึ่ง (ประมาณ 9 พันแห่ง) รวมทั้งอัตราการเกิดโรคติดต่อระบาดในศูนย์เด็กเล็กเหล่านี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น โรคไข้หวัดจากร้อยละ 24.9 เหลือเพียงร้อยละ 9
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดต่อสำคัญที่ สธ.ต้องป้องกันและควบคุมในศูนย์เด็กเล็ก ได้แก่ โรคหวัด โรคมือ เท้า ปาก โรคสุกใส โรคตาแดง โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น ซึ่งโรคติดต่อเหล่านี้ สามารถติดต่อกันได้ทั้ง การหายใจเอาละอองอากาศที่มีเชื้อปนอยู่เข้าไป การไอหรือจามรดกัน และการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน รวมทั้งการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเข้าไป หากเด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก หรือ โรงเรียนอนุบาล เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อเหล่านี้ก็จะสามารถแพร่กระจายสู่กัน และแพร่กระจายสู่ชุมชนได้ง่าย ซึ่งจากการดำเนินงานศูนย์เด็กเล็กคุณภาพปลอดโรค ช่วยให้เด็กปฐมวัยมีสุขภาพกายใจที่ดีลดอุบัติการณ์การเกิดโรค
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานและมาตรการดำเนินการศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลคุณภาพปลอดโรค มีดังนี้ 1.การจัดทำแนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล สำหรับครูผู้ดูแลเด็กโดยเน้น 3 ยุทธศาสตร์ คือ ครูผู้ดูแลเด็กมีสุขภาพและความรู้ดี การบริหารจัดการดี และสภาพแวดล้อมดี 2.การนิเทศติดตามผลการดำเนินงานตามแนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล 3.การให้การรับรองผลการดำเนินงานเป็น “ศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ-ปลอดโรค” แก่ศูนย์เด็กเล็กที่สามารถดำเนินงานได้ถูกต้องตามข้อกำหนด 4.การจัดทำสื่อการเรียนการสอนแก่ศูนย์เด็กเล็ก ด้านการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และ 5.โครงการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ซึ่งจัดขึ้นทุกปี
“กรมควบคุมโรค ได้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและมอบใบประกาศศูนย์เด็กเล็กที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา รวมทั้งได้จัดให้มีการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเชิดชูศูนย์เด็กเล็กที่มีการดำเนินงานดีเด่นทุกปี สำหรับเด็กที่อยู่ในช่วงปฐมวัย ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล นับว่าเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมาก เพราะเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ การบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลให้ได้ตามมาตรฐาน มีคุณภาพ และปลอดโรค โดยเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจ แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลเด็ก การให้ความรู้แก่เด็กๆ ให้มีสุขลักษณะและพฤติกรรมในการป้องกันโรคที่ถูกต้อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายการป้องกันและควบคุมโรค เพื่อปกป้องสุขภาพลูกหลานของเราให้ปลอดภัย ต่อไปผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
- 3 views