ฐานเศรษฐกิจ - กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หวั่นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรุม เหตุกินมากเกินช่วงปีใหม่ แนะควบคุมน้ำหนัก ตามหลัก2:1:1 โดยเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไขมันมาก ย่อยยาก อาหารรส หวาน มัน เค็ม เน้นผักและผลไม้สด รสไม่หวานมาก พร้อมออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเผาผลาญพลังงาน แถมสุขภาพดี
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาพฤติกรรมการบริโภคอาหารหลายคนอาจเปลี่ยนไป โดยกินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และน้ำตาลมากขึ้น อาหารเหล่านี้มักอยู่ในรูปของเค้ก คุกกี้ และขนมหวาน รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จที่ประกอบด้วยกะทิและเนื้อสัตว์ติดมัน เมื่อกินในปริมาณที่มากเกินไปและขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มและเสี่ยงเกิดโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ตามมาใน ระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมน้ำหนักเพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อดังกล่าว ด้วยการควบคุมชนิดและปริมาณอาหารที่กิน โดยใช้แบบจำลองอาหารหรือที่รู้จักกันคือ เมนู 2:1:1 ซึ่งแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วน หรือครึ่งหนึ่งของจานเป็นผักชนิดต่าง ๆ ผักสด หรือผักสุกทุกชนิดมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเทศ คะน้า ตำลึง ใบบัวบก ถั่วพู เป็นต้น อีก 1 ส่วนของจานเป็นกลุ่มข้าว แป้ง ควรเลือกกินข้าวที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ และอีก 1 ส่วนของจานที่เหลือเป็นกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ ให้เลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ไม่ติดหนัง ไม่ติดมัน กินเนื้อปลา อาหารทะเลสลับกันไปกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร โดยเน้นกินผักสดให้มาก เพราะผักให้พลังงานน้อยและยังอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส โฟเลท และใยอาหารสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพในการป้องกันโรค และ เพิ่มภูมิต้านทานโรค ขับถ่ายสะดวก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
หากต้องการให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรกินผลไม้สดที่ ไม่หวานมาก 1 จานเล็กร่วมด้วย เพื่อเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร หลีกเลี่ยงผลไม้แปรรูป เช่น กวน แช่อิ่ม ทอดกรอบ อบแห้ง ดอง และควรเพิ่มนมได้แต่ควรเลือกเป็นนมชนิดไม่ปรุงแต่งรส ดื่มนมรสจืด นมพร่องมันเนย นมขาด มันเนยแทน ส่วนผัก ถ้ากินสดได้จะดีกว่าปรุงสุก จะได้คุณค่าสารอาหารมากกว่าอาหารที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว ถ้ามีการปรุงอาหารที่ต้องใช้น้ำมันควรใช้น้ำมันพืชในการปรุงอาหารและปริมาณน้ำมันพืชที่ใช้ไม่ควรเกิน 2 ช้อนชาต่อมื้อ และ ถ้ากินตามสูตรเมนู 2:1:1 ทั้ง 3 มื้อ ใน 1 วัน ต้องดื่มนมพร่องมันเนย 1 แก้ว เพื่อให้สารอาหารครบถ้วน
"ทั้งนี้ การกินอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก ไม่ใช่การงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง แต่ต้องกินอาหารให้ครบทุกมื้อ ควบคุมปริมาณอาหารที่กินให้เพียงพอและเหมาะสมกับปริมาณความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน อาหารจำพวกทอดน้ำมันมาก เน้นกินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผลไม้ถึงแม้จะให้กากใยมาก แต่ก็มีน้ำตาลสูงอีกด้วย หากได้รับพลังงานการกินมากเกินกว่าใช้พลังงานไปก็อาจทำให้เกิดการสะสมไขมันส่วนเกินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอ้วน และยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมากอีกด้วย นอกจากนี้ ควรหมั่นออกกำลังกาย เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน ๆ ละ 30 นาที เพื่อเผาผลาญพลังงานและสร้างสุขภาพดีให้กับตนเองด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา: http://www.thanonline.com
- 21 views