ร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการเจรจา เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 โดยมีฝ่ายทุนใหญ่สนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมกังวลว่า การค้าระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านการเข้าถึงยาและการสาธารณสุขของประเทศด้วย หากนำกรอบเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปเจรจาไทยก็เสียเปรียบแน่นอน เพราะผลของการผูกขาดสิทธิบัตรยาที่เพิ่มขึ้น-ยาวนานขึ้น จะทำให้ไทยพึ่งพิงยานำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ด้วยราคาที่แพงขึ้น อุตสาหกรรมยาในประเทศถดถอย ที่สำคัญ ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้ยากขึ้นในที่สุด
ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบยาในประเทศไทย
ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้รับการยกย่องชื่นชมจากนานาชาติ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึง การรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้าแม้ในโรคค่าใช้จ่ายสูงด้วยงบประมาณที่เหมาะสม และกำลังเป็นต้นแบบให้เพื่อนบ้านในภูมิภาคและทั่วโลกได้ศึกษา แต่ละหลักประกันสุขภาพของไทยในภาพรวมยังมีปัญหาอยู่มาก
โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำงบประมาณที่ใช้ในสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 4.9 ล้านคนทั้งสิ้น 62,195 ล้าน ขณะที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแล ประชากร 47.7 ล้านคน ใช้งบประมาณ 120,846 ล้านบาท เปรียบเทียบต่อหัวแล้วพบว่าค่าใช้จ่ายของระบบสวัสดิการข้าราชการสูงกว่าระบบหลักประกันถึง 4 เท่า
สิทธิบัตรยาและความตกลงการค้าเสรีด้านทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับยา
สิทธิบัตร คือหนังสือสำคัญทางกฎหมายที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิบัตร (ผู้ทรงสิทธิบัตร) มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย หรือนำเข้าสิ่งประดิษฐ์นั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง สิทธิบัตรทำให้เกิดแรงจูงใจในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ๆ สร้างความมั่นใจในการลงทุนจากต่างประเทศ และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ประดิษฐ์ไปสู่สาธารณะ ผ่านการเปิดเผยรายละเอียดของสิ่งประดิษฐ์ แต่อำนาจผูกขาดที่ผู้ทรงสิทธิได้รับอาจทำให้สินค้าเข้าถึงได้ยากและมีราคาสูง โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ยารักษาโรค
โดยทั่วไปแล้ว ประเทศกำลังพัฒนามีศักยภาพในการจดสิทธิบัตรน้อย ไม่มีกำลังซื้อสูงพอที่จะเข้าถึงสินค้าที่ได้รับการคุ้มครอง และมักจะให้ความคุ้มครองในระดับที่ไม่เข้มงวดมากนัก ประเทศพัฒนาแล้วจึงมักใช้การเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคีขององค์การการค้าโลก เป็นช่องทางในการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนายกระดับความคุ้มครองของสิทธิบัตรให้เข้มแข็งขึ้น ในระดับที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade - Related Aspect of Intellectual Property Rights หรือ TRIPS) ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 7 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์และสิทธิอื่นที่เกี่ยวข้อง เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แบบอุตสาหกรรม สิทธิบัตร การออกแบบวงจรรวม และการคุ้มครองข้อสารสนเทศที่ไม่เปิดเผย
ความตกลงทริปส์ (TRIPS) ระบุว่า ประเทศภาคีต้องให้สิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ในทุกสาขาเทคโนโลยี รวมทั้งยารักษาโรค ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติที่ได้อำนาจผูกขาดผ่านสิทธิบัตรยา ดังนั้นจึงได้มีข้อบทที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองยาโดยเฉพาะ เช่น การคุ้มครองข้อมูลต่างๆ ที่ไม่เปิดเผย และข้อยืดหยุ่นในการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ ได้แก่ ข้อยกเว้นสำหรับการขึ้นทะเบียนยาได้ตามความต้องการและความจำเป็นของแต่ละประเทศ (เพื่อช่วยให้ยาชื่อสามัญสามารถเข้าสู่ตลาดได้ทันทีหลังจากที่สิทธิบัตรของยาต้นแบบหมดอายุลง) การนำเข้าซ้อน (เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำเข้ายาที่มีราคาถูกกว่าจากต่างประเทศมาแข่งขันกับยาชนิดเดียวกันที่จำหน่ายและมีสิทธิบัตรในประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ทรงสิทธิในประเทศก่อน) และการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (หรือซีแอล โดยรัฐบาลใช้หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิได้ในกรณีจำเป็น เช่น กรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน และการใช้โดยรัฐ เพื่อสาธารณประโยชน์และไม่ใช่เพื่อการค้า) เหล่านี้เป็นมาตรการที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อสร้างการแข่งขันระหว่างยาต้นแบบและยาชื่อสามัญ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศ
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ต่อปี หรือประมาณเกือบร้อยละ 4 ของค่าจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ทั้งค่ายาและค่ารักษา) ในปี 2554 คิดเป็นร้อยละ 6.5 ต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมด (GDP) โดยที่ในปี 2553 ค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาคิดเป็นประมาณร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
"ผู้ให้บริการก็สั่งเต็มที่ ผู้รับบริการก็ไม่ต้องจ่ายสำรอง โรงพยาบาลก็มีรายได้จากส่วนต่างราคายา แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ บริษัทยา โดยเฉพาะยานำเข้าจากต่างประเทศ ปี 2551 ประเทศไทยจ่ายค่ายา 2.7 แสนล้านบาท ร้อยละ 65 เป็นค่ายานำเข้าจากต่างประเทศ ทำกำไรให้กับบริษัทยาสูงมากเพราะไม่มีการควบคุมราคายา" นี่คือเสียงสะท้อนจาก นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)
ที่จริงแล้วโครงสร้างของระบบยาในประเทศไทย มีปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจำนวนมาก ได้แก่ การใช้ยาไม่เหมาะสม การโฆษณายาและอาหารเสริมผ่านสื่อต่างๆ การส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ความล้าหลังของ พ.ร.บ.ยา ที่ไม่สามารถจัดการกับทั้งปัญหาเดิมและปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรและการตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา ที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเพียงพอที่จะแก้ปัญหาคำขอสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Evergreening Patent)
ขณะที่ปัญหาข้างต้นนี้ยังไม่ได้รับแก้ไข ระบบยาและระบบสุขภาพของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายใหม่และรุนแรงกว่า นั่นคือ การเจรจาความตกลงการค้าเสรีด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา
ทริปส์พลัส (TRIPS plus)
ทริปส์พลัส (TRIPS plus) คือข้อผูกพันหรือการให้ความคุ้มครองที่เกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ ที่สำคัญได้แก่
การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) เป็นการคุ้มครองโดยให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่ข้อมูลผลการทดลองยา ทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิก (clinical trial) เพื่อขึ้นทะเบียนให้กับยาชื่อสามัญได้ แม้ยานั้นจะไม่ได้จดสิทธิบัตรในประเทศ หรือสิทธิบัตรหมดอายุลงหรือถูกเพิกถอนก็ตาม
- ขยายอายุสิทธิบัตรให้มีอายุเกินกว่า 20 ปี และเพิ่มกรอบการคุ้มครองสิทธิบัตร ให้ยาที่มีสิทธิบัตรสามารถจดสิทธิบัตรใหม่เพิ่มเติมได้ ถ้านำไปใช้รักษาแบบใหม่หรือผลิตในรูปแบบใหม่ ทำให้ยาเหล่านั้นผูกขาดตลาดได้ยาวนานขึ้น
- เพิ่มข้อจำกัดในการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ยากขึ้น เช่น ซีแอล การนำเข้าซ้อน การขึ้นทะเบียนยา
นอกจากนี้ยังได้แก่ ข้อกำหนดที่ไม่ให้มีการคัดค้านขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร การอาศัยกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้บริษัทต่างชาติสามารถดำเนินคดีกับรัฐบาลได้ หากได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านสุขภาพในประเทศนั้นๆ การใช้มาตรการ ณ จุดผ่านแดน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรยึดจับยาชื่อสามัญที่นำเข้าหรือขนส่งได้หากสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ยาและการเจรจาความตกลงการค้า
ประเทศมหาอำนาจได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อบีบบังคับประเทศกำลังพัฒนาปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้มีกำรคุ้มครองสิทธิมากขึ้นกว่าระดับการคุ้มครองขั้นต่ำที่ระบุไว้ในข้อตกลงทริปส์ โดยเฉพาะการกดดันผ่านสิทธิพิเศษทางการค้ารูปแบบต่างๆ ในการเจรจาเขตการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี รัฐบาลไทยได้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในปี 2535 ให้สอดคล้องตามความตกลงทริปส์ โดยขยายความคุ้มครองของสิทธิบัตรไปสู่ผลิตภัณฑ์ยา และขยายอายุการคุ้มครองของสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปี
รายงานของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้ว่าใน พ.ศ. 2533 ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่าการผลิตและนำเข้ายาทั้งประเทศ แต่หลังจากการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเป็นต้นมา มูลค่าและสัดส่วนมูลค่าการนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตรจากต่างประเทศเพิ่มสูงถึงร้อยละ 69 ขณะที่มูลค่าการผลิตยาในประเทศลดลงเหลือเพียงร้อยละ 31 เท่านั้น
ในอนาคตมีแนวโน้มว่า มูลค่าการนำเข้ายาจะเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะยาที่มีสิทธิบัตรคาดการณ์ได้ว่าปลายปี 2555 มูลค่าอาจสูงไปถึงร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายด้านยารวมของประเทศ ส่วนมูลค่าที่เกิดจากการผลิตในประเทศจะหดเหลือเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น
หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ คนไทยจะมีปัญหาในการเข้าถึงยาจำเป็นใหม่ๆ และเป็นภาระด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก
เมื่อขึ้นสู่โต๊ะเจรจา ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาจึงเป็นประเด็นร้อนแรงเสมอ ดังจะเห็นได้จากการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2547-2549 เมื่อมีการเปิดโปงข้อเรียกร้องด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา
ที่นักวิชาการระบุว่า "เลวร้ายกว่าที่คิด" หลายหน่วยงานทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ต่างเห็นตรงกันว่า
แม้การเจรจาเอฟทีเอจะมีผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ไทย ไม่ควรรับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะในประเด็นการขยายเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลทางยา และมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ที่อาจนำไปสู่การใช้สิทธิในทางที่มิชอบของผู้ทรงสิทธิ เพื่อปิดกั้นการแข่งขันจากผู้ผลิตยาในประเทศ
สอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอแนะของหลายหน่วยงานของสหประชาชาติ คือ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations DevelopProgramme: UNDP) และโครงการเอดส์แห่งสหประชาติ (United Nations AIDS Programme: UNAIDS) รวมทั้งการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ที่ได้ออกเอกสารแนะนำ (Briefing Paper) แก่ประเทศกำลังพัฒนาให้พยายามหลีกเลี่ยงการยอมรับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลทางยา และให้คงมาตรการยืดหยุ่นตามความตกลงทริปส์ในกฎหมายของประเทศให้มากที่สุด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุข
แต่ในครึ่งปีหลังของ 2555 เมื่อมีสัญญาณจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาว่าจะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (จีเอสพี) สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการ ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้จึงยิ่งร้อนแรงขึ้นอีกครั้งจากทั้งสองฝ่าย
โดยฝ่ายผู้เสียประโยชน์ในภาคธุรกิจเอกชนระบุว่า "หากสินค้ากุ้งแช่แข็งถูกอียูตัดจีเอสพี จากที่เคยถูกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 4 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 12 กุ้งปรุงแต่งที่มีมูลค่าเพิ่มจากร้องละ 7 เป็นร้อยละ 20 อยากวิงวอนให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยการเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียู ซึ่งหากต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีกว่าในการเจรจา ก็ควรขอให้อียูพิจารณาผ่อนปรน โดยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันทางใดทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันที่ยังได้จีเอสพีจากอียู เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย"
ขณะที่ภาคประชาสังคมและหน่วยงานด้านสาธารณสุขเห็นว่า แม้การทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปจะส่งผลทางบวกต่อจีดีพีของไทย แต่อาจเทียบไม่ได้กับความสูญเสียในระบบสุขภาพ เมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่สหภาพยุโรปต้องการมากที่สุด จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยสูงขึ้นถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของคนไทย และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพ รวมทั้งกระทบต่ออุตสาหกรรมยาไทยในที่สุด
ผลกระทบของร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอสหภาพยุโรป
ท่ามกลางเสียงทักท้วงห่วงใยถึงการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจากหลายฝ่าย ทั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้ส่งความเห็นข้อเสนอแนะถึงคณะรัฐมนตรี นักวิชาการในสาขาเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 84 คน ที่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจา การค้าระหว่างประเทศที่มีผลต่อสุขภาพและนโยบายเชิงสุขภาพ (คจคส.) ในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหนังสือถึงกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านเป็นมติออกมาเมื่อ 4 ธันวาคม 2555 และเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อ 23 มกราคม 2556 ณ สำนักงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยไม่มีผู้บริหารสำคัญของกระทรวงเข้าร่วมรับฟัง และที่ประชุมรัฐสภาได้เลื่อนวาระการให้ความเห็นชอบต่อร่างกรอบเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วน และผ่านความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 โดยกรอบดังกล่าวระบุว่าสอดคล้องกับความตกลงของ WTO ซึ่งแปลว่าสอดคล้องกับทริปส์ และไม่เอาทริปส์ผนวก
ในอีกไม่นานนัก การเจรจาเอฟทีเอไทยสหภาพยุโรป และความตกลงทีพีพีจะเริ่มขึ้น โดยหวังให้มีผลบังคับใช้ต้นปี 2558 เพื่อทันการต่อสิทธิจีเอสพีอย่างถาวรตามความต้องการของภาคธุรกิจ แต่ความกังวลในการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาและเกี่ยวพันกับสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศนั้นคงยิ่งถูกจับตามองมากขึ้น เพื่อมิให้ฝ่ายทุนใหญ่และบริษัทยาข้ามชาติใช้โอกาสนี้ต่อรองประโยชน์ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ด้วยจุดยืนเดียว นั่นคือ ไม่รับเงื่อนไขที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์
ทั้งนี้ ก็เพื่อมิให้มีการผูกขาดยาเชิงพาณิชย์ในระยะเวลาที่นานขึ้น และด้วยราคาที่แพงขึ้น ด้วยข้อเท็จจริงที่พบแล้วว่า การเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนายาใหม่และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการวิจัยพัฒนายาให้กับประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างใด หากแต่คนไทยต้องพึ่งยานำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น เสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้นและเข้าถึงยาจำเป็นได้ยากยิ่งขึ้น
ที่มา: รายงานสุขภาพคนไทย 2556
หมายเหตุ : รายงานสุขภาพคนไทย 2556 จัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
“รายงาน “สุขภาพคนไทย” ได้ก้าวสู่หนึ่งทศวรรษแล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รายงานสุขภาพคนไทยได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปี นำเสนอข้อมูลที่สำคัญ และหยิบยกเรื่องเด่นมานำเสนอประจำแต่ละฉบับ เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าสถานการณ์บางอย่างมีพัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางสถานการณ์ก็ยังคงวนเวียนหาทางออกไม่ได้ หรือย้อนกลับมาเป็นปัญหาใหม่ ทำให้เห็นว่าบางปัญหามีความสลับซับซ้อน และต้องการการปรับเปลี่ยนแนวคิดและโครงสร้างเพื่อคลี่คลายปัญหา และต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย”
- 264 views