สาธารณสุขเตรียมพร้อมโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน 1,500 แห่งทั่วประเทศ ระดมกำลังแพทย์ผ่าตัดทุกสาขา แพทย์อื่นๆ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เต็มพิกัดกว่า 160,000 คน ประจำห้องฉุกเฉิน ผ่าตัด หอผู้ป่วย ไอซียู พร้อมจัดทีมแพทย์กู้ชีพพร้อมรถพยาบาลปฏิบัติการเกือบ 14,000 คัน รับมืออุบัติเหตุจราจร เจ็บป่วยฉุกเฉินช่วงปีใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง หวังดูแลทุกคนมีชีวิตรอดและปลอดภัย ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ฟรีที่ 1669 พร้อมทั้งเปิดผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีประชาชน 1 ใน 4 ตั้งใจ ดื่มฉลอง ปีใหม่ เชียร์หน่วยราชการปฏิบัติตามกฎหมายแอลกอฮอล์ ห้ามคนดื่มขับรถ
วันนี้ (26 ธันวาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ในการรับมืออุบัติเหตุจราจรและเจ็บป่วยฉุกเฉินในวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2556 – 3 มกราคม 2557
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยและปรารถนาให้ประชาชนทุกคนได้ฉลองเทศกาลอย่างมีความสุข ได้เตรียมการเพื่อป้องกันและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุหรือป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2556 จนถึง 2 มกราคม 2557 ซึ่งในเทศกาลปีใหม่ 2556 ที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,176 ครั้ง บาดเจ็บ 3,329 คน เสียชีวิต 365 คน สาเหตุเกิดจากขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และเมาแล้วขับ ในปี 2557 นี้ ตั้งเป้าลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสถิติช่วงเทศกาลปีใหม่ 2556
ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดอื่น เช่น กลาโหม ตำรวจ ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 1,500 แห่ง เตรียมความพร้อมหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งขอความช่วยเหลือ ระบบการดูแลรักษาในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล เพื่อลดความรุนแรง ลดอัตราตาย และความพิการของผู้บาดเจ็บ –ผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุด หากประชาชนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที
ทั้งนี้ได้ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงทุกเขต กำกับ ติดตามการทำงานของจังหวัดในความรับผิดชอบ ในพื้นที่ที่มีจุดตรวจ/จุดบริการบนเส้นทางสายหลัก อยู่ห่างกันมาก ให้จัดหน่วยแพทย์ฉุกเฉินประจำการเพิ่ม เพื่อให้การดูแลประชาชนอย่างรวดเร็ว
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการเตรียมความพร้อมดูแลผู้เจ็บป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ได้ให้แต่ละโรงพยาบาลเตรียมความพร้อม 2 เรื่อง ได้แก่ 1. หน่วยแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ออกปฏิบัติการวันละ 13,810 คัน สามารถออกไปให้การดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุหลังรับแจ้งภายใน 10 นาที โดยประชาชนสามารถโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์กู้ชีพทั่วประเทศ ทางสายด่วนหมายเลข 1669 ฟรีทุกระบบตลอดเวลา 2.เตรียมกำลังแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินหรืออีอาร์ (ER) และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในโรงพยาบาล ทุกระดับ รวมจำนวน 162,798 คน พร้อมทั้งสำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที และสำรองเตียงรองรับอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปรักษาอย่างรวดเร็ว และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน เครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ เกือบ 400 เครื่องทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย ค้นหาความผิดปกติและรักษาได้รวดเร็วที่สุด และมุ่งหวังช่วยชีวิตของผู้เจ็บป่วยให้รอดชีวิตและปลอดภัยที่สุด
อย่างไรก็ดี ขอย้ำเตือนประชาชนที่พบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน หากเป็นไปได้ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บเอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนได้ เช่น เกิดความพิการ โดยเฉพาะในผู้ที่บาดเจ็บกระดูกหักใน เช่นกระดูกสันหลัง กระดูกต้นคอ อาจไม่มีบาดแผลปรากฏให้เห็น จึงขอให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยกับผู้บาดเจ็บมากขึ้น
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ปีใหม่ 2556 อันดับ 1 คือ เมาสุรา จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บระดับชาติ (IS) สำนักระบาดวิทยา พบว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นผู้ขับขี่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเกิดเหตุร้อยละ 43 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยพบว่าวันที่ 1 มกราคม มีผู้ขับรถที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุดถึงร้อยละ 53 ในจำนวนนี้เป็น เด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี ร้อยละ 20 โดยในปีนี้ กรมควบคุมโรคได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการดื่มเหล้าในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 21 จังหวัด ทั่วประเทศ จำนวน 2,058 คน เป็นชาย 1,056 คน หญิง1,002 คน พบว่า เพศชายโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 20-39 ปี ร้อยละ 27 ตั้งใจจะดื่มในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งใจไม่ดื่มเหล้า ร้อยละ 45 และร้อยละ 10 มีความรู้สึกที่ดีต่อการได้รับกระเช้าของขวัญที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกร้อยละ 44 รู้สึกไม่ดีที่ได้รับกระเช้าปีใหม่ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการออกกฎหมายห้ามขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มเหล้าไม่ว่าจะปริมาณเท่าใด ถึงร้อยละ 78 เห็นด้วยกับการให้มีภาพบังคับบนคำเตือนขวดเหล้าร้อยละ 76 และเห็นด้วยที่จะให้ออกกฎหมายให้หน่วยงานราชการ /รัฐวิสาหกิจ ไม่กระทำผิดกฎหมายเหล้าเช่นไม่โฆษณาส่งเสริมการขาย ขายในเวลาที่กำหนด ร้อยละ 78 และเห็นด้วยกับการห้ามแสดงสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานดนตรีงานอีเวนท์ คอนเสิร์ต งานบุญ งานเลี่ยง งานกีฬา ร้อยละ68
ทั้งนี้ตลอด 7 วัน เทศกาลปีใหม่นี้ กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัดและกทม. ควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ พ่อค้า แม่ค้าทุกจังหวัดทุกพื้นที่ ให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ห้าม เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ ปั๊มน้ำมัน ห้ามขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามขายโดยไม่มีใบอนุญาตขายสุรา เป็นต้น รวมทั้งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนนขณะขับขี่ หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถ หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างไม่ละเว้น โดยเปิดสายด่วนรับแจ้งผู้กระทำผิดตลอด24 ชั่วโมง ทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3342
- 3 views