Hfocus -เงินที่ลูกจ้างบริษัทเอกชนทั้งหลาย ถูกหักสมทบ 5% เข้าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นประจำทุกๆเดือนนั้น 3% จะถูกกันไว้เป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำหรับจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพซึ่งเริ่มเก็บเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2541 โดยเงื่อนไขที่ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญก็คือต้องมีอายุ 55 ปี และจ่ายสมทบมาแล้ว 180 เดือนหรือ 15 ปีขึ้นไป
และปี 2557 นี้ จะเป็นปีแรกที่ สปส.เริ่มจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้ประกันตนที่เข้าเงื่อนไขข้างต้นทุกเดือนไปตลอดชีวิต
แล้วแต่ละเดือนจะได้เงินเท่าไร? สูตรคำนวนเงินบำนาญที่จะได้รับคือ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายในการทำงาน
และเนื่องจากอัตราเงินเดือนสูงสุดที่ สปส.นำมาคำนวนหักเงินสมทบคือ 15,000 บาท ต่อให้เงินเดือน 20,000 บาทหรือ 100,000 บาท สปส.ก็จะหักเงินสมทบที่เพดาน 15,000 บาทเท่านั้น ซึ่งหากผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 15,000 บาท
เงินบำนาญที่จะได้รับทุกเดือนก็คือ 3,000 บาท
ขณะเดียวกัน อัตรารายได้ขั้นต่ำที่ สปส.นำมาคำนวณในการจ่ายเงินสมทบนั้นคือเดือนละ 1,650 บาท และแม้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนก่อนเกษียณจะอยู่ที่ 1,650 บาทก็ตาม
แต่สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพขั้นต่ำให้ที่ 720บาท/เดือน โดยอัตราบำนาญชราภาพขั้นต่ำดังกล่าว ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่10 พฤษภาคม 2556 และให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป
แล้วคนที่มีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลังไม่ถึง 15,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญเท่าใด? จากการคำนวณคร่าวๆจะได้ตัวเลขออกมาดังนี้
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 1,600 บาท
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 9,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 1,800 บาท
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 2,000 บาท
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 11,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 2,200 บาท
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 2,400 บาท
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 13,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 2,600 บาท
ผู้ที่มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 14,000 บาท จะได้รับบำนาญเดือนละ 2,800 บาท
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมากกว่า 15 ปีนั้น จะได้เงินบำนาญเพิ่มอีกใน 1.5% ทุกๆระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ 12 เดือน นั่นหมายความว่าหากจ่ายเงินสมทบมา 192 เดือนแล้วเกษียณอายุ แทนที่เงินบำนาญจะคำนวณจาก 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก็จะคำนวณที่ 21.5% แทน หรือ หากบวกไปอีก 12 เดือน คือทำงาน 204 เดือนแล้วเกษียณ ก็จะคำนวณเงินสมทบที่ 23% แทนเป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว กรณีผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี แต่ยังจ่ายสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จแทน โดยมีวิธีการคำนวณคือเงินสมทบส่วนที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบ + ดอกผลจากการลงทุน เช่น กรณีเงินเดือน 15,000 บาท จะถูกหักสมทบเดือนละ 450 บาท หากจ่ายมา10 ปี จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับ 900 (ลูกจ้าง 450 นายจ้างอีก 450) x 12 เดือน x10 ปี หรือ 108.000 บาท + ดอกผลจากการลงทุนที่สปส.กำหนด
และกรณีผู้ประกันตนที่รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี นับจากเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับเงินบำนาญ ผู้เป็นทายาทจะ ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินรายเดือนที่ได้รับก่อนเสียชีวิตด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี ที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพในปี 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น113,361 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33จำนวน 108,123 ราย และมาตรา 39 จำนวน 5,238 ราย เมื่อรวมกับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปี แต่จ่ายสมทบไม่ถึง 180 เดือน ซึ่งจะได้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบของบำเหน็จอีกประมาณ 17,000 ราย ทำให้สปส.ต้องจ่ายเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้ สปส.ได้ทยอยส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกันตนที่เข้าข่ายตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และยื่นเรื่องขอรับสิทธิได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557ซึ่งขั้นตอนการใช้สิทธิต้องกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01) พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัว ประชาชน สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภท ออมทรัพย์ที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้มีสิทธิ์รับเงินบำนาญ ชราภาพ ยื่นที่สำนักงานสาขาของ สปส.ทุกแห่งที่สะดวก โดยเงินบำนาญที่ได้รับอาจเข้าบัญชีธนาคารล่าช้าประมาณ 2 เดือน เช่น ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญเดือนมกราคม 2557 สปส.จะโอนเงินของเดือนดังกล่าวให้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2557 แทน
นอกจากนี้ หากผู้ประกันตนรายใดต้องการจะทำงานต่อ ยังไม่ไปขอรับสิทธิประโยชน์ก็สามารถทำได้ โดยต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อไปได้เรื่อยๆ จนถึงอายุ 60 ปี
- 767 views