มติชน - กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจ'เครื่องวัดความดันโลหิต'ในโรงพยาบาล 1,233 เครื่อง พบตกมาตรฐาน 18% ทำอ่านค่าเพี้ยน แนะวิธีดูแลรักษาไม่เก็บในที่ชื้น เลี่ยงฝุ่นละออง
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เครื่องวัดความดันโลหิตเป็นเครื่องมือแพทย์ที่นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจวินิจฉัยโรค ซึ่งปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบเชิงกล และเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติ ทั้งนี้ ล่าสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2556 สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ ได้สุ่มทดสอบเครื่องทั้ง 2 ชนิด ที่ใช้งานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เชียงราย พัทลุง นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา สงขลา อุดรธานี และ จ.เชียงใหม่ จำนวน 1,233 เครื่อง พบว่า ตกมาตรฐาน 232 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 18.8 แบ่งเป็นเครื่องที่ตกมาตรฐานด้านความแม่นยำ 49 เครื่อง หรือร้อยละ 4 เครื่องที่ตกมาตรฐานด้านอัตราการรั่วของความดันในระบบ 183 เครื่อง หรือร้อยละ 14.4
นพ.อภิชัยกล่าวว่า ปัญหาเครื่องวัดความดันโลหิตตกมาตรฐานไม่ได้เกิดจากการจัดซื้อเครื่องไร้คุณภาพ แต่มีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ประกอบชำรุด เช่น สาย ลูกยาง ฯลฯ ขณะที่นำไปใช้งานและเก็บบำรุงรักษาไม่ดี
"ในการดูแลรักษาเครื่อง จึงควรหลีกเลี่ยงเก็บในที่มีความชื้นสูง ฝุ่นละออง ใต้แสงแดดโดยตรงและของมีคม อย่าวางวัตถุที่มีน้ำหนักมากทับลงบนเครื่อง ไม่ปั๊มลมหากไม่ได้สวมปลอกเข้ากับข้อมือ ไม่ดึง ยึดหรือบิดปลอกพันข้อมือ ไม่แกะ ถอด แยกส่วนประกอบซ่อม หรือปรับแต่งเครื่องเอง และสำหรับเครื่องวัดความดันโลหิตแบบอัตโนมัติควรถอดแบตเตอรี่ออกเมื่อไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้วให้ปรับปรุงเครื่องดังกล่าว" นพ.อภิชัยกล่าว และว่า ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจความดัน แนะนำว่าก่อนการวัดความดัน ผู้ตรวจควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มกาแฟ และก่อนวัดควรนั่งพักให้หายเหนื่อยอย่างน้อย 5-10 นาที งดวัดความดันหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ และควรปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนวัด เพื่อให้ได้ค่าความดันที่ไม่คลาดเคลื่อน อีกทั้งอาจส่งผลให้ค่าที่อ่านได้ไม่ถูกต้อง
อนึ่ง ความดันโลหิต คือ ค่าแรงดันโลหิตที่วัดได้ ณ หลอดเลือดส่วนปลาย โดยใช้เครื่องวัดความดันวัดที่ต้นแขน มีค่าที่วัดออกมา ได้แก่ ค่าความดันโลหิตตัวบน (ค่ามาก) หรือความดันซิสโตลิก หมายถึงแรงดันเลือดขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันโลหิตตัวล่าง (ค่าน้อย) หรือความดันไดแอสโตลิก หมายถึงแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว ซึ่งค่าความดันปกติ คือ 120/80 มิลลิเมตรปรอท หากความดันสูงเกินกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคอัมพาต เป็นต้น
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 21 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 502 views