ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บ้านเมือง - จากการสำรวจสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีประชากร รวมจำนวนทั้งสิ้น 65,981,659 คน

เพิ่มขึ้นจากเมื่อสิบปีที่แล้วถึงร้อยละ 8.32 หรือเพิ่มขึ้น 5,065,218 คน

จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทางราชการใช้มาตรการกำหนดกำลังคนภาครัฐ พูดง่ายๆ ก็คือทางราชการไม่เพิ่มจำนวนข้าราชการ

จำนวนข้าราชการซึ่งคงที่ขณะที่ประชากรของประเทศสูงขึ้น ทำให้บริการต่างๆ ของทางราชการทุกด้านช้าลง

แม้ว่าส่วนราชการบางแห่งได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการให้บริการ แต่บริการหลายชนิดก็ใช้เทคโนโลยีช่วยไม่ได้

ท่านผู้อ่านที่เคยไปโรงพยาบาลของรัฐสังเกตไหมครับว่า มีจำนวนคนไข้เข้ารับบริการสูงกว่าเดิมมาก

ระยะเวลาที่เข้ารับบริการก็ใช้เวลามากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด

เพราะนอกจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแล้ว การที่ทางราชการได้มีนโยบายรักษาพยาบาลฟรี ไม่ว่าบัตรทอง หรือสามสิบบาทรักษาทุกโรค ทำให้นิสัยของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

จากการที่เคยปล่อยให้อาการเจ็บป่วยหายไปเอง ก็พัฒนาดีขึ้นกล่าวคือเมื่อมีอาการก็รีบไปพบแพทย์

อ้อ นอกจากจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนประชากรคนไทยมากขึ้นแล้ว

สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้ก็คือ การที่ประเทศไทยเป็นม้าอารีรับคนงานต่างชาติเข้ามาทำงานในเมืองไทย ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้คนไข้ในโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เรื่องคนไข้ชาวต่างชาตินี้มีสิทธิพิเศษเยอะ แล้วจะได้เขียนในโอกาสต่อไป

กลับมาเรื่องคนไข้คนไทยต่อครับ แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ผู้ถือบัตรทองซึ่งลงทะเบียนรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่ง ต้องเข้ารับการรักษาที่ศูนย์คลินิกเวชกรรม ซึ่งกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ที่โรงพยาบาลของรัฐนั้นๆ กำหนดก่อน

และหากเกินความสามารถของศูนย์คลินิกเวชกรรมเหล่านี้ที่จะรักษา จึงส่งต่อให้โรงพยาบาลของรัฐนั้นๆ เป็นผู้รักษาต่อก็ตาม

แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมายนัก คนไข้ก็ยังคงล้นโรงพยาบาล ระยะเวลาในการรับบริการก็ยังช้าอยู่มาก

เมื่อก่อนอาจใช้เวลาเพียงครึ่งวัน แต่ปัจจุบันบางแห่งใช้เวลาถึงค่อนวันหรือทั้งวันไปแล้ว

คนไข้หลายคนที่มีฐานะดีหน่อยก็หลบไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนแทน เพราะไม่ต้องรอนาน ไม่เสียเวลา แถมยังได้รับบริการที่ดี นอกจากนั้นทั้งหมอพยาบาลก็พูดจาไพเราะอ่อนหวาน

ส่วนคนไข้ที่พอจะช่วยตัวเองได้บ้างก็ยอมเสียค่าบริการทางการแพทย์นอกเวลา เพียงครั้งละ 300 บาท หรือหากพบแพทย์หลายคนก็เสีย 600 บาท แต่ถ้าพบแพทย์เฉพาะทาง เช่น กระดูก ก็เสียแพงกว่าปกติ คือ 500 บาท

เพราะนอกจากไม่ต้องรอหมอนานแล้ว การบริการด้านอื่นๆ เช่น การรับยาก็รวดเร็วไปด้วย

จำนวนคนไข้ที่ไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐนั้น นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังรวมถึงข้าราชการอีกด้วย

ข้าราชการเหล่านี้ไม่ได้มีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป  ต้องเข้ารับการรักษาตามลำดับก่อนหลัง (Queue) เช่นกัน และข้าราชการส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินพอที่จะมาใช้บริการของโรงพยาบาลนอกเวลางานได้

ทำให้มีผลกระทบอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก จำนวนคนไข้ของโรงพยาบาลในภาพรวมยังคงเท่าเดิมหรือมีจำนวนสูงขึ้น

ประการที่สอง การให้บริการของภาครัฐในส่วนอื่นๆ ก็ช้าลง เพราะข้าราชการที่เจ็บป่วย ต้องไปโรงพยาบาล

การทำให้จำนวนคนไข้ที่ใช้บริการในเวลาเดียวกันลดลง และทำให้การบริการของรัฐในส่วนอื่นไม่ช้าลงไปด้วย ไม่ใช่เรื่องยากเลย หากทางราชการคิดจะทำ

ประการแรก ราชการส่งเสริมให้ข้าราชการไปใช้บริการที่โรงพยาบาลนอกเวลาราชการ โดยให้ข้าราชการเบิกค่าบริการทางการแพทย์ได้

เป็นการลดจำนวนคนไข้ในเวลาราชการลงทันที เพราะข้าราชการที่ไม่อยากไปรอในเวลาราชการ ก็จะไปรับการรักษานอกเวลาราชการแทน

เวลาราชการก็อยู่ที่สำนักงาน เพื่อให้บริการประชาชนในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง ส่งเสริมให้ข้าราชการรักษาสุขภาพ โดยการให้โบนัสข้าราชการเฉพาะในรอบปีงบประมาณที่ไม่ได้เบิกค่ารักษาพยาบาล

อาจเพิ่มให้อีกในปีต่อๆ ไป หากยังไม่เบิกค่ารักษาพยาบาลอีก

เพราะการที่ข้าราชการจะรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงและไม่เจ็บป่วยนั้น ก็ต้องออกกำลังกายรวมทั้งต้องบำรุงร่างกายด้วย

เป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ข้าราชการจะรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น เพื่อจะได้รับโบนัสจากทางราชการ

จำนวนข้าราชการที่ไปหาหมอก็ลดลงอีก เป็นการลดจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลลงไปด้วย

ประการที่สาม ราชการประกันสุขภาพหมู่ให้แก่ข้าราชการทุกคน

การประกันสุขภาพหมู่นั้น ทราบว่าโรงเรียนหลายแห่งได้ดำเนินการให้แก่ครูและนักเรียน และทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวได้ผลดียิ่ง

และก็ทราบว่ากระทรวงการคลังได้เคยศึกษาเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเงียบหายไป

การประกันสุขภาพหมู่ให้แก่ข้าราชการนั้น นอกจากข้าราชการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐหรือของเอกชนได้แล้ว

ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของทางราชการได้หลายๆ ประการ ทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งการเก็บรักษาใบสำคัญต่างๆ ด้วย

ข้อเสนอทั้งสามประการข้างต้นนี้ ฝากโดยตรงให้กระทรวงการคลังช่วยพิจารณาด้วย

เพื่อเป็นอานิสงส์แก่ข้าราชการที่มีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

รวมทั้งส่งผลถึงประชาชนที่เข้ารับการบริการในโรงพยาบาลของรัฐด้วย

จะได้ไม่ต้องรอคอยเป็นเวลานานดังเช่นในปัจจุบันนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  วันที่ 13 ธ.ค. 56

เรื่องที่เกี่ยวข้อง