กรุงเทพธุรกิจ - โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจาก ยุงลายเป็นพาหะของโรค นอกจากเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้วยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนและร้อนชื้น พบว่าในแต่ละปีทั่วโลกจะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 400 ล้านคน ทว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกราว 3 พันล้านคน กลับตกอยู่ในภาวะเสี่ยง
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกัน การติดเชื้อ หรือแม้แต่ยาในการรักษา เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน ยังมีข้อจำกัด แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการ พัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกกันอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่ประสบ ความสำเร็จ
ดร.บรรพต ศิริเดชาดิลก นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) บอกว่า ในวงการวิจัยมีความพยายามพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมาหลาย 10 ปี แม้จะมีวัคซีนต้นแบบที่ใช้ได้ดีแต่เมื่อนำไปทดลองในคนกลับมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำ
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นักวิจัยกลับมาค้นหาวิธีการใหม่ ในการพัฒนาวัคซีนที่ดีกว่าวิธีการเดิมซึ่งได้เดินมาถึง ทางตัน"
เชื้อไข้เลือดออกมีหลากหลายถึง 4 สายพันธุ์ อีกทั้งล่าสุดได้ค้นพบเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 5 ซึ่งคาดว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้ไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะมีวงจรชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
ขณะเดียวกัน เมื่ออากาศอุ่นขึ้นประเทศที่อยู่ในเขตที่เหนือเส้นศูนย์สูตร ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเขามองว่า ในมุมของงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้มีอีกหลายเรื่องที่ต้องค้นหาคำตอบ
ดร.บรรพต เป็นหนึ่งในนักวิจัยไทย ที่สนใจศึกษาเชื้อไวรัสไข้เลือดออก หรือ เด็งกี่ ในระดับพันธุกรรม โดยพัฒนาเทคนิคการสร้างไวรัสแบบใหม่ ต่อยอดสู่การ ผลิตวัคซีนตัวเลือก เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยอาศัยประสบการณ์จากการศึกษาไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งมีความใกล้เคียงกับไวรัสดังกล่าว
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัคซีน จะต้องสร้างเชื้ออ่อนฤทธิ์ เพื่อนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองเพื่อดูคุณสมบัติที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นวัคซีนต่อไป ซึ่งการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันด้วยเทคนิคการทำให้ เชื้อไวรัสเด็งกี่ที่มีชีวิตอ่อนฤทธิ์ด้วยการเปลี่ยนพันธุกรรมของไวรัส ยังไม่สามารถสร้างเชื้ออ่อนฤทธิ์ได้ในปริมาณที่มากพอ ทำให้โอกาสที่จะเจอเชื้อที่ใช้ได้จริงมีน้อยตามไปด้วย "สิ่งที่ผมสนใจคือการพัฒนาเทคนิค ที่สามารถเปลี่ยนสารพันธุกรรมของไวรัสทั้งเส้นได้ในครั้งเดียว จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ช่วยร่นระยะเวลาเหลือเพียง 2-3 สัปดาห์ สามารถสร้างไวรัสที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมได้มากขึ้น" นักวิจัยกล่าว เมื่อนำวิธีการสร้างไวรัสที่พัฒนาขึ้น ในห้องแล็บ มารวมกับเทคนิคการศึกษาไวรัส ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นในช่วย 1-2 ปี ที่ผ่านมา จะช่วยทำให้การวิเคราะห์ไวรัสทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถค้นหา เชื้ออ่อนฤทธิ์ที่น่าจะนำไปใช้พัฒนาวัคซีนต่อไปได้
แม้จะเป็นเทคนิคที่ใหม่มาก แต่ตัวเขาเองมั่นใจว่าจะสามารถใช้ในการตัดต่อพันธุกรรมของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากเทคนิคนี้เริ่มต้นทดลองใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน
เขามองว่า ความก้าวหน้าของงานวิจัยจะช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกได้ในอนาคต และจะช่วยลด ความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ดีขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าในปัจจุบันยังไม่สามารถ บอกได้ว่ากลไกการติดเชื้อในลักษณะใด จะทำให้เกิดอาการรุนแรง ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายได้รับเชื้อไวรัสแต่ไม่เป็นไข้เลือดออกก็มี
"18 เดือนนับจากนี้ จะทำให้ได้วิธีการใหม่ที่ผลิตเชื้ออ่อนฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้เชื้อรูปแบบใหม่ที่หลากหลายและนำไปใช้งานได้มากขึ้น" เขากล่าว
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจาก Grand Challenges Canada ด้วยงบประมาณ 1 แสนดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีเนื่องจากที่ผ่านมาข้อจำกัดที่ทำให้การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเดินหน้าได้ช้า เพราะไม่มีเงินทุนในการวิจัย ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมองว่า ไข้เลือดออกเป็นโรคของคนจน ทำการวิจัยและพัฒนาไม่ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับโรคอื่น
ทุนวิจัย Grand Challenges Canada ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดา มอบให้โครงการที่มีความชัดเจนและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก ในเรื่องของสุขภาพ โดยการมอบทุนให้กับนักวิจัยหรือนักนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการ บูรณาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมทางสังคมและธุรกิจ ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง รวมทั้งประเทศแคนาดา โดยการนำเอานวัตกรรมเหล่านี้ ไปใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความยั่งยืน รวมทั้งเพื่อนำมาใช้ในการช่วยเหลือและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ดีขึ้น "การที่เราเข้าใจเกี่ยวกับตัวเชื้อ ก่อโรคไข้เลือดออก รวมถึงกลไกในการ ก่อโรคที่ร้ายแรงของตัวเชื้อ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการออกแบบพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกในอนาคต" นักวิจัยกล่าว และว่า งานวิจัยและพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทยได้ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาล ศิริราช รับหน้าที่ศึกษาภูมิคุ้มกันและ อาการของคนไข้โรคไข้เลือดออก ตลอดจนพัฒนาวิธีการตรวจโรคที่มีความแม่นยำ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่รับหน้าที่พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกใน ขั้นตอนต่อไป
นักวิจัยย้ำว่า งานวิจัยครั้งนี้จะเป็นตัวช่วยยืนยันว่า เทคนิคใหม่สามารถใช้กับไวรัสไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้หรือไม่ โดยเริ่มต้นจากสายพันธุ์แรกก่อน ในส่วนของการพัฒนาไปถึงขั้นตอนการผลิตวัคซีนจะต้องผ่านการทดลองในสัตว์ และการทดลองในคน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันได้จริงและปลอดภัยหรือไม่ ถึงจะไปสู่เป้าหมายของวัคซีนในอนาคต
'การพัฒนาเทคนิคที่สามารถเปลี่ยนสารพันธุกรรมของไวรัส'ได้ในครั้งเดียว จากเดิมที่ต้องใช้เวลา หลายเดือน ช่วย ร่นระยะเวลาเหลือเพียง 2-3 สัปดาห์'บรรพต ศิริเดชาดิลก
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ธ.ค. 2556
- 64 views