คนไทยบริจาคอวัยวะน้อยแค่ 2 คนต่อ 1 ล้านประชากร สธ.เผยปี 2555 สถิติบริจาคอวัยวะมีเพียง 136 คน ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 334 ราย ยังเหลือผู้ป่วยรอรับบริจาคอีกกว่า 3,516 ราย ทั้งที่บริจาค 1 คนช่วยผู้ป่วยได้มากถึง 7 ราย ตั้งเป้าพัฒนา รพศ./รพท.38 แห่งเป็นศูนย์รอรับบริจาค เร่งสางความเชื่อชาติหน้าอวัยวะไม่ครบ หวังคนบริจาคมากขึ้น ดันเป็นโครงการปลูกถ่ายอวัยวะเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระเทพฯ”
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.กำลังเร่งพัฒนาให้โรงพยาบาลภูมิภาคมีศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยที่มีอวัยวะสำคัญเสื่อมสภาพ เช่น ไตวาย ตับวาย หัวใจล้มเหลว และอยู่ระหว่างการรักษาเพื่อยืดชีวิต หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะให้ใหม่ ซึ่งเป็นการรักษาที่ได้ผลดี มีความคุ้มค่ามากที่สุด หลังผ่าตัดส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เพื่อให้ผู้ป่วยต่างจังหวัดได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด โดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลในสังกัด สธ.สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 7 แห่ง ได้แก่ รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก รพ.ชลบุรี รพ.ขอนแก่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี รพ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า ในปี 2557 สธ.ตั้งเป้าพัฒนาให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเป็นศูนย์รอรับการบริจาคอวัยวะให้ได้ 38 แห่ง และในปี 2558 จะจัดเป็นโครงการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา เนื่องจากเป็นการสร้างกุศลแห่งชีวิตและให้ชีวิตใหม่แก่ผู้ป่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน ปัจจุบันมีผู้ป่วยรอรับอวัยวะบริจาคเพื่อผ่าตัดเปลี่ยน จำนวน 3,516 คน แต่ในด้านของผู้บริจาคอวัยวะยังมีจำนวนน้อยมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสมองตายและไม่สามารถฟื้นชีวิตได้อีก
“จากข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยปี 2555 มีผู้ป่วยสมองตายที่บริจาคอวัยวะเพียง 136 คน สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายช่วยเหลือผู้ป่วยได้ 334 คน โดยเป็นการปลูกถ่ายไตมากที่สุด 246 คน เมื่อคิดเป็นสัดส่วนผู้บริจาคในประเทศไทย อยู่ที่ 2 คนต่อประชากร 1 ล้านคน นับว่าน้อยมาก ต่ำกว่าประเทศในยุโรป 10-15 เท่าตัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากไม่สามารถรอการบริจาคอวัยวะสัปดาห์ละ 3 คน โดยผู้บริจาคอวัยวะ 1 คน สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยคนอื่นได้อย่างน้อย 7 คน” รองปลัด สธ.กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาศูนย์รับบริจาคอวัยวะจะพัฒนาทั้งระบบ ตั้งแต่ให้ความรู้และเชิญชวนการบริจาคจากประชาชน ระบบการเก็บอวัยวะที่รับบริจาค การขนย้ายที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งพัฒนาระบบค่ารักษาพยาบาลในการปลูกถ่ายอวัยวะของทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพ ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะภายหลังการเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสาเหตุที่คนไทยบริจาคอวัยวะน้อย เนื่องจากยังเชื่อว่าชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบถ้วน
- 6 views