สธ.เผยผลสุขภาพจิตพบกลุ่มผู้ชุมนุมในพื้นที่มีความเครียดมากกว่าคนภายนอก 17 % แนะวิธีผ่อนคลายทั้งผู้ชุมนุมและผู้ปฏิบัติงาน ยันคงแผนเดิมการดูแลผู้ชุมนุมตลอดทั้งคืนวันที่ 3 ธ.ค. เผยสถาบันนิติเวชกำลังตรวจสอบกระดูกบนรถบัส ระบุส่งทีมสุขภาพจิตลงพื้นที่นางเลิ้งแล้ว
วันนี้ (3 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า แผนปฏิบัติการในการดูแลผู้ชุมนุมทางการเมือง ยังคงแผนเดิมไว้ก่อน และจะประเมินสถานการณ์ในช่วงค่ำอีกครั้ง โดยจะมีการสับเปลี่ยนกำลังตามแผนเดิม และตลอดในช่วงคืนวันที่ 3 ธ.ค. ยังเป็นการดำเนินตามแผนขั้นสูงอยู่ สำหรับกรณีโครงกระดูกที่พบในรถบัสหน้า ม.รามคำแหงนั้น สถาบันนิติเวช กำลังดำเนินการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ และยังไม่ได้รายงานมา จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโครงกระดูกของคนหรือสัตว์ หรือเป็นเพศใด
“การดูแลผู้ชุมนุม ศูนย์เอราวัณ เป็นแกนหลักในการประชุมร่วมกับแกนนำผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ซึ่งจะมีการจัดระบบการดูแลสุขภาพของผู้ชุมนุมภายในพื้นที่ชุมนุมส่วนหนึ่ง แต่หากมีความช่วยเหลือเพิ่มเติมจะมีการร้องขอมาทางศูนย์เอราวัณก่อน มีสองระบบคือ ระบบการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม และการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ ได้มีการจัดทีมสุขภาพจิตดูแลกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ชุมนุม ผู้เข้าไปให้การช่วยเหลือและผู้ได้รับกระทบ เช่น ผู้ป่วย ผู้สูญเสีย"”ปลัด สธ. กล่าว
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจความเครียดของประชาชนในพื้นที่ชุมนุมและนอกพื้นที่ชุมนุมทั่วไปโดยกรมสุขภาพจิต ช่วงวันที่ 28 พ.ย.- 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา พบประชาชนไทยถึง 2 ใน 3ประสบภาวะตึงเครียด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชุมนุมจะมีระดับความเครียดสูงกว่าประชาชนนอกพื้นที่ชุมนุมถึงร้อยละ 17 ซึ่งน่าเป็นห่วงและต้องระมัดระวังพิเศษ เพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การเมืองร่วมกับสิ่งแวดล้อม และสื่อรอบตัวที่มีความเข้มข้นทางอารมณ์สูงตลอดเวลา ความเครียดมีผลกระทบดังนี้ 1. ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น นอนไม่หลับ เมื่อยล้า ปวดตึงศีรษะ เหนื่อยง่าย 2.ผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้ว้าวุ่นใจ หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ฟุ้งซ่านอารมณ์ขึ้นลงไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จนเกิดภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าเรื้อรัง และถ้ายิ่งเครียดมากเครียดนานอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ และ 3.ผลกระทบต่อสัมพันธภาพและสังคม ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลจนมีโอกาสควบคุมไม่อยู่ นำมาสู่การสูญเสียเพื่อนและสัมพันธภาพ อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย
นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่น่าเป็นห่วงแล้ว กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ผู้ให้ความช่วยเหลือ มูลนิธิหรือจิตอาสา ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เกิดเหตุ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ง่ายต่อการเกิดความเครียดคุกคามจากสภาพที่ไม่ปลอดภัย การไม่ได้กินนอนตามปกติ การทำงานเร่งด่วนภายใต้แรงกดดัน งานไม่เป็นไปอย่างคาดหวัง เกิดความกลัว ความผิดหวัง ความโกรธ ความสิ้นหวัง เห็นใจผู้เคราะห์ร้าย ซึ่งภาวะเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความเครียดที่เรื้อรังได้ และยิ่งสถานการณ์รุนแรงเท่าไหร่ก็มักจะเกิดความเครียดมากขึ้นเท่านั้น สำหรับแนวทางปฏิบัติเพื่อช่วยลดภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นทั้งกับผู้ชุมนุมและผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ให้ความช่วยเหลือ ขอแนะนำให้พยายามดำเนินรูปแบบการใช้ชีวิต โดยกินนอนให้ได้ตรงเวลา หาวิธีผ่อนคลาย จัดการกับความเครียด เช่น กลุ่มผู้ชุมนุมอาจทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย ทำกิจกรรมบันเทิงร่วมกัน พูดคุยเรื่องอื่น หรือหลบไปอยู่ในที่เสียงไม่ดังมาก กลับไปพักผ่อนที่บ้าน ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวแล้วค่อยกลับมาใหม่ เป็นต้น
"ผู้ปฏิบัติงาน อาจต้องเพิ่มเติมคือ สร้างกลุ่มทบทวนการปฏิบัติงานหลังจากเสร็จสิ้นไปกับผู้ร่วมงานหรือแบ่งปันประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนมุมมองว่าเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นและสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า รวมถึงพยายามให้กำลังใจตนเอง ผู้ปฏิบัติงานหรือจิตอาสาอื่นๆ ถ้ารู้สึกท่วมท้น อึดอัดใจ หรือไม่สบายใจมากๆ การพูดคุยกับหัวหน้าทีมหรือผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับเวลาหรือแนวทางปฏิบัติงานที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น หรืออาจปลดปล่อยความรู้สึกออกบ้างผ่านการวาดรูปหรือเขียนบันทึก ทั้งนี้ อาการที่เกิดจากความเครียดจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อระยะเวลาผ่านไปและมีวิธีจัดการที่ดีแต่อาจมีอาการที่บ่งชี้ว่าควรได้รับคำปรึกษาและช่วยเหลือโดยเร็ว เพื่อให้ชีวิตกลับสู่ปกต" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวและว่า นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต ได้จัดบริการดูแลสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจัดทีมบุคลากรด้านสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิตในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพร้อมดูแลสภาวะจิตใจกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ให้ความช่วยเหลือร่วมกับทีมสุขภาพกาย ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ทีมสุขภาพจิตได้ลงพื้นที่บริเวณนางเลิ้งและโรงพยาบาลเพื่อดูแลทางด้านสุขภาพจิตของผู้ชุมนุมและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว ซึ่งวิกฤตทางด้านจิตจะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤติทางกาย อาการเริ่มต้นอาจจะเครียด นอนไม่หลับ โมโห หงุดหงิด หลังจากการเหตุการณ์คลี่คลายจะต้องมีการติดตามประเมินอาการทางสุขภาพจิตต่อไป 3- 6 เดือนขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน
- 7 views