สธ.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพเขตบริการสุขภาพ 3 พื้นที่ หลังพบยังไม่มีศูนย์เฉพาะทาง เผยเตรียมออกประกาศให้ค่าโอทีแพทย์ทำงานข้ามโรงพยาบาลในเขตสุขภาพเดียวกัน
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการเดินหน้าปฏิรูป สธ. ด้วยการจัดเขตบริการสุขภาพออกเป็น 12 พื้นที่ทั่วประเทศ เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ว่าคืบหน้ามาก โดยเฉพาะความสามารถในการพึ่งตนเองของเขตบริการสุขภาพแต่ละพื้นที่ ทั้งการรักษาโรคซับซ้อน การแก้ปัญหาโรคเรื้อรัง หรือลดการส่งต่อให้เป็นศูนย์ ซึ่งผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจใน 9 พื้นที่ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทาง มีเครื่องมือพร้อม ขณะเดียวกันระบบส่งต่อยังมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลสุขภาพตำบล มีเพียง 3 พื้นที่ที่ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่มีศูนย์เฉพาะทาง ได้แก่เขตบริการสุขภาพที่ 3 ที่มีโรงพยาบาลนครสวรรค์ เป็นแม่ข่ายบริการสุขภาพหลัก เขตบริการสุขภาพที่ 8 มีโรงพยาบาลอุดรธานี เป็นแม่ข่าย และเขตบริการสุขภาพที่ 12 มีโรงพยาบาลสงขลาเป็นแม่ข่าย
นพ.วชิระกล่าวว่า เขตบริการสุขภาพทั้ง 3 เขตยังต้องพัฒนาในเรื่องศูนย์เฉพาะทาง อย่างโรคหัวใจ การผ่าตัดโรคหัวใจ รวมไปถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องใช้รังสีรักษา ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้เข้าไปสนับสนุน ทั้งในงบประมาณการพัฒนาศูนย์เฉพาะทาง หรือการจัดส่งแพทย์ศึกษาต่อ หรืออบรมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคเฉพาะทาง เป็นต้น ในเรื่องการจัดการเขตบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ คือ สามารถแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งห้องผ่าตัด แพทย์ ฯลฯ ให้แก่ โรงพยาบาลทุกระดับของแต่ละเขตพื้นที่ หากโรงพยาบาลชุมชนในเขตบริการสุขภาพที่ 1 มีห้องผ่าตัด มีอัตราการครองเตียงต่ำ แต่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัดจำเป็นต้องใช้ห้องผ่าตัด และมีอัตราการครองเตียงสูงก็สามารถส่งต่อให้ผู้ป่วยมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน โดยให้แพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดตามมาผ่าตัดด้วย ซึ่งกรณีนี้จะช่วยลดปัญหาการรอคิว และยังช่วย ผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการใช้บุคลากรอย่างคุ้มค่า โดยจะมีการปรับค่าตอบแทนในส่วนเงินโอที หรืออาจมีเงินพิเศษสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องทำงานข้ามโรงพยาบาล แต่ยังอยู่ในเขตบริการสุขภาพของตนเอง โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงขึ้นเป็นการเฉพาะ เบื้องต้นอยู่ระหว่างเตรียมการ
รองปลัด สธ.กล่าวว่า ในเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยหลังการผ่าตัด จะต้องมีการพักฟื้น แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลจังหวัดจะมีปัญหาเตียงไม่เพียงพอ ตรงนี้จะแก้ปัญหาด้วยการส่งต่อไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลชุมชนแทน เนื่องจากมีเตียงมากพอ ตรงนี้จะต้องมีค่าตอบแทนให้แก่โรงพยาบาลชุมชนในอัตราเดียวกับโรงพยาบาลจังหวัดด้วย กรณีดังกล่าวเป็นการจ่ายเพิ่มในส่วน On Top DRG หรือเงินในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คิดเป็นการเฉพาะ กรณี ดังกล่าวจะมีการหารือกับ สปสช.อีกครั้ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 30 ตุลาคม 2556
- 2 views