กำเนิดสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
ก่อนหน้าที่สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเซนต์คริสโตเฟอร์ จะเกิดขึ้น ซิเซลี่ ซอนเดอร์ ได้เผยแพร่แนวคิดของเธอผ่านงานเขียนและการบรรยาย เมื่อพ.ศ.2506 (ค.ศ.1963) ซิเซลี่ ซอนเดอร์ เดินทางมาบรรยายเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยเยล มีพยาบาลผู้หนึ่งได้เข้าฟังการบรรยายในครั้งนั้นและเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำแนวทางการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวมาสร้างให้เกิดเป็นจริงในสหรัฐอเมริกา เธอคือ ฟลอเรนซ์ วอล์ด (Florence Wald)
ฟลอเรนซ์ วอล์ด (Florence Wald) ผู้ให้กำเนิดสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสหรัฐอเมริกา
เวลานั้นเธอดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพยาบาลของมหาวิทยาลัยเยล เธอได้ปรับปรุงหลักสูตรของคณะพยาบาลใหม่ส่งเสริมให้นักเรียนพยาบาลเน้นไปที่การดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งใน พ.ศ.2509 (ค.ศ.1966) พร้อมกับมุ่งที่จะสร้างสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายตามแบบอย่างของ ซิเซลี่ ซอนเดอร์ ได้ทำในอังกฤษ เธอเดินทางไปเรียนรู้เรื่องนี้ที่สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเซนต์คริสโตเฟอร์ ในที่สุดเธอและสามีได้ร่วมกันก่อตั้งทีมสหวิชาชีพอันประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล นักบวช เป็นต้น มาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย ใน พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ได้ถือกำเนิดขึ้นจากทีมที่กล่าวมาที่ แบรนฟอร์ด (Branford) ตอนแรกพวกเขาเน้นไปที่การดูแลที่บ้าน ก่อนที่จะรับผู้ป่วยในเมื่อ พ.ศ.2523 (ค.ศ.1980) จากนั้นสถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นต้นแบบให้กับฮอสพิซอื่นที่เกิดตามมาในสหรัฐอเมริกาจนในปัจจุบันมีอยู่ราว 4,700 แห่ง มีผู้เลือกใช้บริการเป็นจำนวนนับล้านคน
บรรยากาศที่ดูสงบและผ่อนคลายในมุมหนึ่งของ คอนเนตทิคัต ฮอสพิส (Connecticut Hospice)
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
นอกจากการก่อตั้งสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นการเฉพาะแล้ว ปัจจุบันการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและใส่ใจในทุกมิติในโรงพยาบาล ได้พัฒนาดีขึ้นมากกว่าในอดีตและยังขยายออกไปครอบคลุมผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอีกด้วย
นายแพทย์ บัลโฟร์ เมาท์ (Balfour Mount) ผู้นำแนวคิดแบบฮอสพิซมาใช้ในโรงพยาบาล
ผู้ที่ให้กำเนิดแนวคิดเรื่องการดูแลแบบประคับประคองในทวีปอเมริกาตอนเหนือได้แก่ นายแพทย์บัลโฟร์ เมาท์ (Balfour Mount) เดิมเขาเป็นศัลยแพทย์รักษามะเร็ง และเป็นอาจารย์อยู่ที่โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยแมคกิล (McGill University) ในแคนาดา เมื่อปี พ.ศ.2516 เขาได้เข้าร่วมวงเสวนาเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง On Death and Dying ซึ่งทำให้เขาตระหนักว่า แม้จะเป็นหมอมานานหลายสิบปี แต่ตนเองไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับความตายเลย เขาจึงจัดวงพูดคุยถึงหนังสือดังกล่าวในหมู่แพทย์ หลายคนไม่เชื่อถือข้อเสนอในหนังสือ ทั้งเรื่องความทรมานจากความปวดของคนไข้ การหลีกเลี่ยงหรือไม่ใส่ใจของบุคลากรด้านสุขภาพ และเสนอให้มีการสำรวจว่าในโรงพยาบาลของพวกเขามีเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ บัลโฟร์ เมาท์ อาสาทำการศึกษาเรื่องนี้ในโรงพยาบาลรอยัล วิคตอเรีย (Royal Victoria) ในมอนทรีออล แคนาดา และพบว่าเป็นความจริง เขาพบชื่อของ เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ และ ซิเซลี ซอนเดอร์ส ในหนังสือ จึงติดต่อไปเพื่อขอดูงาน แต่ซอนเดอร์สเสนอให้เขามาทดลองทำงานอยู่ในฮอสพิซ 1 สัปดาห์
เขาได้ถือเอา เซนต์คริสโตเฟอร์ ฮอสพิซ เป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายในแคนาดา ขณะเดียวกันเขาเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบเดียวกันได้ที่แคนาดา เนื่องจากจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เมาท์ตัดสินใจทำแผนกหนึ่งในโรงพยาบาลให้เป็นเหมือนฮอสพิซ และนำหลักการดูแลแบบเดียวกันมาใช้ในโรงพยาบาลรอยัล วิคตอเรีย โดยเรียกว่า “แผนกดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care Ward)” เพราะคนสับสน เนื่องจากคำว่า Hospice ในภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาราชการของมอนทรีออล หมายถึง เนอสซิ่งโฮม (สถานดูแลผู้สูงอายุ)
เรื่องราวทั้งหมดคือความเป็นมาแบบย่อๆ ของกระแสความเปลี่ยนแปลงในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในประเทศไทยแม้จะยังไม่เกิดฮอสพิซอย่างเป็นทางการ แต่สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายท้ายที่สัมพันธ์กับมิติศาสนาเช่น วัด หรือ โบสถ์ มีให้เราเห็นอยู่ นับตั้งแต่การมรณภาพของท่านพุทธทาสภิกขุใน พ.ศ.2536 กระแสความสนใจในเรื่องการกำหนดแนวทางการรักษาหรือดูแลร่างกายโดยเจ้าของร่างกายเอง และความสนใจในเรื่องนี้ก็ขยายตัวมากขึ้น ในระดับนโยบายมีการทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต พ.ศ. 2556-2559” โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในขณะที่ภาคสังคมก็มีความตื่นตัวที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของหลักสูตรการอบรมที่เกี่ยวกับเรื่องการตายอย่างสงบหรือหนังสือที่พูดเรื่องการตายดีจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับรู้กันทั่วไปในสังคมไทย ยังคงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างตัวอย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก
และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เครือข่ายพุทธิกา และภาคีสุขภาพอื่นๆ จะจัดงาน จัดงานสัมมนา“การตายอย่างสงบ: บทเรียนและกรณีศึกษาในสังคมไทย” ขึ้นที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมงานได้ฟรี สนใจดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ http://www.budnet.org/peacefuldeath/node/192
ผู้เขียน : นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย
- 130 views