นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือ ที่รู้จักันในนาม หมอบรัดเล
คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ของนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley MD.) หรือ หมอบรัดเลย์ที่คนไทยคุ้นเคย ถือได้ว่าเป็นตำราทางการแพทย์แบบตะวันตกเล่มแรกที่ตีพิมพ์ในภาษาไทย (ที่ยังมีหลักฐานเอกสารเหลืออยู่)ถูกตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) โดยตีพิมพ์เป็นจำนวน 200 ฉบับ แจกจ่ายให้กับบรรดาหมอหลวงในเวลานั้น หมอบรัดเลย์ได้เขียนไว้ในหน้าปกและคำนำว่าเป็นการแปลย่นความ (ย่อความ) จากคัมภีร์ครรภ์ทรักษาของแพทย์อเมริกาและแพทย์ยุโรปในเวลานั้น เหตุผลที่หมอบรัดเลย์ได้ทำการแปลตำราในเรื่องการดูแลครรภ์และการทำคลอดนั้น เนื่องมาจากความเห็นและความรู้ที่แตกต่างกันในการการดูแลระหว่างโลกตะวันตกในเวลานั้นและการทำคลอดแบบชาวไทยที่ทำกันผ่านหมอตำแย จากคำบอกเล่าของหมอบรัดเลย์ การเข้าไปดูแลพระสนมของเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระยศในขณะนั้น ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้บรรดาพระสนมนางในไม่ต้องอยู่ไฟหลังจากการคลอด เนื่องจากทรงเห็นว่าเป็นเรื่องทรมาน และทรงมีพระประสงค์ให้มีการดูแลพระสนมนางในเหล่านั้นโดยนายแพทย์ชาวตะวันตก และคาดหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนความคิดของพระสนมนางของพระองค์ให้มาใช้วิธีการดูแลและการทำคลอดแบบตะวันตก
บานแผนก (หรือ คำนำ) ของคัมภีร์ครรภท์รักษา
ในครั้งนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ประสบผลอย่างที่ทรงตั้งพระทัยไว้ และเป็นเหตุแรกให้ทำหมอบรัดเลย์ตั้งใจว่าจะเขียนตำราครรภ์ทรักษาแบบตะวันตกเผยแพร่ในภาษาไทยในเวลานั้น (ราว พ.ศ. 2379-80) ซึ่งกว่าจะเป็นผลสำเร็จก็ใช้เวลาอีกห้าปีให้หลัง
หลังจากไปดูแลพระสนมของเจ้าฟ้าจุฑามณี หมอบรัดเลย์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายการรักษาสมเด็จพระพันวัสสา (พระยศในขณะนั้น หรือสมเด็จศรีสุริเยนทราบรมราชินี) สมเด็จพระราชมารดาของเจ้าฟ้ามงกุฎและเจ้าฟ้าจุฑามณี ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในเรื่องการคลอดบุตร ซึ่งทั้งสองต่างเชื่อมั่นในวิธีการแบบของตน แม้ว่าพระบรมวงศานุวงษ์รุ่นเก่าจะเชื่อมั่นในวิธีการดั้งเดิมเช่นการอยู่ไฟแต่พระบรมวงศานุวงษ์และขุนนางรุ่นใหม่ เช่น เจ้าฟ้ากุณฑล หรือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนแต่มีความมั่นใจในวิธีการทำคลอดแบบตะวันตกอยู่มาก
ดังมีการเรียกหมอบรัดเลย์ไปดูแลการคลอดของคนในวังของเจ้าฟ้ากุณฑล หรือการเข้าไปถวายการดูแลการประสูติของเจ้าจอมมารดาแพ และสมเด็จพระนางเธอโสมนัสวัฒนาวดี ฯ (หรือสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ้นพระชนม์อันเนื่องมาจากการคลอดบุตรทั้งสองพระองค์ ซึ่งในกรณีหลังนับว่าเป็นการพิเศษที่ชาวต่างชาติซึ่งเป็นบุรุษสามารถเข้าไปทำคลอดให้กับพระสนมและพระมเหสีของพระมหากษัตริย์ได้
หมอบรัดเลย์ได้พยายามแนะนำให้ราชสำนักหันมาเลือกใช้วิธีการดูแลครรภ์และการทำคลอดแบบตะวันตก รวมไปถึงการยกเลิกการอยู่ไฟด้วย แต่การยกเลิกการผทมเพลิง (อยู่ไฟ) ในราชสำนักมาสำเร็จผลได้จริงๆ ก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2432 (1889) เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระองค์มีพระอาการเป็นไข้ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ได้ชี้แจงถึงข้อดีของการพยาบาลแบบฝรั่ง ที่ตนเองได้ใช้กับชายาของตนเอง สมเด็จพระนางเจ้าทรงเห็นดีด้วย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเลิกผทมเพลิง โดยมีหมอปีเตอร์ เคาแวน (Peter Cowan) มาดูแลแม้ไม่ได้ผทมเพลิงแต่พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ดี นับแต่นั้นมาก็เลิกวิธีการอยู่ไฟในพระบรมมาราชวัง พวกผู้ดีนอกวังก็ถือเอาตามสมเด็จพระบรมราชินี เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ภาพทารกในท่าทางต่างๆ ที่ประกอบอยู่ในคัมภีร์ครรภท์รักษา
เนื้อหาของคัมภีร์ครรภ์ทรักษาเป็นการอธิบายถึงการปฏิสนธิ กายวิภาคของทารกในครรภ์ ลักษณะของครรภ์และทารก วิธีการทำคลอดของทารกที่อยู่ในท่าต่าง ๆ รวมไปถึงเครื่องมือสำหรับการทำคลอดแบบตะวันตก และภาพประกอบ มีจำนวนหน้า 167 หน้า ภาพวาดประกอบอีก 50 แผ่น เงินทุนในการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ หมอบรัดเลย์กล่าวว่า ได้มาจากเงินรางวัลพระราชทานที่ได้ทำการปลูกผีป้องกันโรคไข้ทรพิษ
มีผู้เคยทำการศึกษาเปรียบเทียบหนังสือเล่มนี้กับคัมภีร์ประถมจินดาที่เป็นคัมภีร์ครรภ์รักษาของไทยแต่เดิม และตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์ประถมจินดา ที่มีต้นฉบับเหลืออยู่ในหอสมุดแห่งชาติ เป็นคัมภีร์ที่มีการชำระภายหลัง(ชำระในปี พ.ศ. 2413 ) จากการพิมพ์หนังสือครรภ์ทรักษาของหมอบรัดเลย์แล้ว และเนื้อหาบางส่วนของคัมภีร์ประถมจินดาฉบับชำระแล้วอาจได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ครรภ์ทรักษาของหมอบรัดเลย์ อิทธิพลของการดูแลครรภ์และการทำคลอดแบบตะวันตก ที่เริ่มจากในราชสำนักจะเริ่มมีอิทธิพลมากในสังคมไทยมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนนำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรกในเวลาต่อมา นับว่าการดูแลครรภ์และการสูติกรรมเป็นศาสตร์ทางการแพทย์แบบตะวันตกแขนงแรก ๆ ที่สร้างการยอมรับได้อย่างรวดเร็วในสังคมไทย
ผู้เขียน : นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย
- 1185 views