มติชน - น่าคิดว่า เหตุใด...คนอย่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยุค "พรรคไทยรักไทย" ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ "นโยบายปฏิรูปคลื่นคิดข่าวระบบสาธารณสุข" ของรัฐบาล "พรรคเพื่อไทย" ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าเหมือนการ "ถอยหลังเข้าคลอง" ทั้งๆ ที่คนไทยทั้งประเทศต่างรู้ดีว่าทั้งสองพรรคการเมืองรวมทั้งตัวของ นพ.สุรพงษ์เอง ก็คือคนที่มาจากกลุ่มก้อนเดียวกัน

12 ปีก่อน ผลงานโดดเด่นที่ทำให้คนไทยชื่นชอบและจดจำรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้อย่างไม่มีวันลืม คือ "โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค" ที่มีการกระจายงบประมาณไปสู่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศโดยคิดตามรายหัวประชากรในพื้นที่ เพราะโครงการนี้สามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่าง "ทั่วถึง" และ "เท่าเทียม" ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง "คนจน" และ "คนรวย"

วันนี้...รัฐบาล "พรรคเพื่อไทย" ก็พยายามที่จะสร้างผลงานชิ้นโบแดงด้วยนโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขอีกครั้ง เพราะเล็งเห็นว่าหลักปรัชญา "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" เมื่อ 12 ปีที่แล้ว แม้จะนับว่าเป็นก้าวแรกของการปฏิรูประบบสาธารณสุขในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ถือว่าเต็มรูปแบบ เนื่องจากเมื่อปี 2544 รัฐบาลขณะนั้นเน้นเพียงเรื่องของการบริหารและกระจายงบประมาณ ยังขาดการกระจายบุคลากร และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริการรักษาพยาบาล

แต่ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้จะคิดหรือมี นโยบายใดๆ ส่งผ่านไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการ ก็มักจะถูกภาคประชาสังคม และผู้ใต้บังคับบัญชาบางกลุ่มบางก้อนต่อต้านคัดค้านอยู่ร่ำไป

ยิ่งมาถึงยุคที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยิ่งออกอาการหนัก เพราะไม่ว่าจะออกนโยบายใดก็เป็นเรื่อง เริ่มตั้งแต่

1.การปรับเปลี่ยนวิธีจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์แบบประเมินตามภาระงาน หรือพีฟอร์พี

2.การปรับค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข

3.การปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้มี 12 เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ และให้แต่ละเขตบริหารจัดการกันเองโดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวง ทำหน้าที่เป็น "ซีอีโอ" ซึ่งกระเทือนไปถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่อาจจะถูกควบคุมการใช้งบประมาณไปด้วย หรือ

4.การที่จะให้ สธ.เป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพแห่งชาติ และทุกหน่วยงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานตระกูล ส. อย่าง สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ฯลฯ จะต้องสนับสนุนข้อมูลด้านสุขภาพให้ สธ.โดยตรง

การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบบริการสาธารณสุข ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ยินดี เพราะประชาชนมีแต่ได้ประโยชน์ ทว่า...หากเปรียบเทียบนโยบายของรัฐบาลที่มาจากคนกลุ่มก้อนเดียวกัน แต่ใช้ชื่อพรรคต่างกัน ยุคสมัยแตกต่างกัน ทำให้เห็นความต่างอย่างชัดเจน

ในปี 2544 สมัยพรรคไทยรักไทย มี นโยบายด้านสาธารณสุข บนฐานคิดลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม เพิ่มอำนาจการซื้อบริการสุขภาพ มาถึงปัจจุบัน...ยุคพรรคเพื่อไทย ยังเน้นลดความเหลื่อมล้ำ แต่พยายามจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบบริการสาธารณสุข เพื่อให้สามารถแข่งขันกันได้ และไม่เป็นภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาล

ทั้งสองแนวทางมีเป้าหมาย คือ "ปฏิรูประบบสาธารณสุข" ไม่มีแนวทางใดถูกหรือผิด แต่ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการส่วนใหญ่ทั้งการจ่ายเงินแบบพีฟอร์พี การปรับค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข การจัดทำ 12 เขตบริการสุขภาพ หรือการทำให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพ แห่งชาติ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จากพรรคเพื่อไทย กำลังดำเนินการ เป็นเพียงงานปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะไม่สามารถทำให้ไปถึงเป้าหมายของการปฏิรูประบบสาธารณสุขเชิงโครงสร้างได้อย่างแท้จริง

เพราะทุกอย่างเป็นการบริหารแบบ "รวมศูนย์อำนาจ" ไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป

อาจจะด้วยเหตุผลนี้ ที่ทำให้ นพ.สุรพงษ์ ถึงกับต้องออกโรงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ นพ.ประดิษฐ ผ่านสื่อ และเรียกร้องให้ นพ.ประดิษฐ ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารกระทรวงสาธารณสุขตามหลักการ "กระจายอำนาจ" ด้วยการผลักดันให้

โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แปรรูปเป็น "องค์การมหาชน"

นพ.สุรพงษ์บอกว่าแนวทางการทำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์การมหาชน มีตัวอย่างแล้ว คือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการนำร่องมาแล้วเมื่อ 13 ปีก่อน โดยมีการบริหารจัดการ และตัดสินใจกันเองในรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีบุคลากรในท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งการบริหารงบประมาณและจัดหารายได้กันเอง ให้ความดีความชอบ ให้คุณให้โทษแก่บุคลากรในองค์กรกันเอง สร้างความเป็นเลิศทางการแพทย์เอง ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

เชื่อว่า...ขณะนี้มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกมากที่มีความพร้อมจะแปรรูปเป็นองค์การมหาชน แต่จะมีผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขคนใดเล่า "กล้า" พอที่จะตัดสินใจ "ลดทอน" อำนาจของตัวเอง

แต่หากทำได้ อันนี้แหละถึงจะเรียกว่า "ปฏิรูประบบสาธารณสุข" อย่างแท้จริง!

ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 26 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--