ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ศาลฎีกา มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่บริษัทโรงพยาบาล พญาไท 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางปรียนันท์หรือดลพร ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เป็นจำเลย ในคดีหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีที่จำเลย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 ทางรายการเมืองไทยรายวัน ออกอากาศทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถึงการทำคลอดของโรงพยาบาลที่ส่งผลให้น้องเซ็นต์ บุตรชาย ต้องกลายเป็นคนพิการ ขาสั้น ยาวไม่เท่ากัน
ศาลฎีกาเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจเพื่อความชอบธรรม และปกป้องสิทธิตามคลองธรรมจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ตอนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าการรักษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพ
ความผิดพลาดในการวินิจฉัย และการรักษาคนไข้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นปกติ ใครโชคดี นึกเฉลียวใจและพอจะมีกำลังทรัพย์ ลองเปลี่ยนโรงพยาบาล เปลี่ยนหมอ ผลการวินิจฉัยเป็นคนละเรื่องกับโรงพยาบาลแรกรอดตายหวุดหวิด หรือไม่ต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต
ใครที่เชื่อหมอยอมรับในคำวินิจฉัย หรือสงสัย แต่ฐานะไม่เอื้ออำนวย หลายราย เสียชีวิตไปอย่างไม่น่าจะเสีย เหตุผลที่ทางโรงพยาบาลมักจะยกมาอ้างคือ ติดเชื้อในกระแสโลหิต หัวใจล้มเหลว ทั้งๆ ที่ตอนเข้าโรงพยาบาลไม่ได้เป็นโรคหัวใจ คนที่ไม่ตายก็ต้องกลายเป็นผัก หมดสติ กลายเป็นเจ้าชาย หรือเจ้าหญิงนิทราตลอดชีวิต
กรณีเหล่านี้ เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชน ที่มีชื่อเสียงไม่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่โด่งดังไปทั่วโลกแต่ละปีมีชาวต่างชาติเดินทางมารับบริการ เพราะเชื่อในคำโฆษณา และมีราคาถูก เมื่อเทียบกับบ้านเขา เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น โรงพยาบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ ผู้ป่วยเสียค่ารักษาพยาบาลราคาแพงเป็นหลักแสน หลักล้าน แต่กลับต้องกลายเป็นศพ หรือเป็นผักออกจากโรงพยาบาล
ญาติผู้ป่วย ส่วนใหญ่ มักจะยอมจำนนต่อคำแก้ตัวและการบ่ายเบี่ยงปฏิเสธความรับผิดชอบของโรงพยาบาลทั้งๆ ที่ยังคลางแคลงใจว่า ผู้ป่วยน่าจะตายหรืออาการทรุดหนักลง เพราะ ความผิดพลาดของหมอผู้รักษาเพราะไม่รู้จะไปสู้รบตบมืออย่างไรกับโรงพยาบาล และหมอ ที่เป็นต่อในทุกๆ ด้าน และยังมีองค์กรวิชาชีพที่กฎหมายให้การรับรอง คอยปกป้องการกระทำที่ผิดพลาดให้ด้วย
นางปรียนันท์ เขียนเล่าความเป็นมาของเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊กของเธอว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2545 เธอถูกเชิญไปออกรายการ "เมืองไทยรายวัน" ช่อง 9 อสมท. และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2545 ได้ไปพูดที่มูลนิธิอาสาสมัคร เพื่อสังคม เล่าข้อเท็จจริงว่า
เธอไปคลอดลูกที่ รพ.พญาไท 1 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2534 เธอเป็นหญิงท้องแรก ลูกหนัก 4,050 กรัม อยู่ในท่าคลอดที่ผิดปกติ หงายหน้าออก พญ.ยรรยงค์ มังคละวิรัช หมอสูติฯ ไม่มาตรวจครรภ์ ก่อนเข้าห้องคลอด สั่งให้ยาเร่งคลอดทางโทรศัพท์ หมอใช้เครื่องดูด จนท้ายทอยลูกห้อเลือดก้อนโต จึงนำเธอไปผ่าตัดฉุกเฉิน หลังผ่าตัด ก้อนเลือดละลายกลายเป็นน้ำดี ลูกตัวเหลืองมากส่องไฟไม่ลด
นพ.สันติ สุทธิพินทะวงศ์ หมอเด็ก ถ่ายเลือดผ่านสายสะดือ ลูกติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรง มีไข้สูงเม็ดเลือดขาวขึ้นสูงผิดปกติ 20,200 ตัว ร้องกวน น้ำหนักลด หมอไม่ให้ยาปฏิชีวนะ เพาะเชื้อยังไม่ทราบผลให้นำลูกกลับบ้าน
หนองทำลายข้อสะโพกซ้ายของเด็ก จนเสียหายหมด กระดูกแขนซ้ายหัก และข้อแขนซ้ายถูกทำลาย ผลกระทบทำให้ลูกไม่มีข้อสะโพกซ้าย กระดูกต้นขาซ้ายหลุดอยู่นอกเบ้า ขาสั้นยาว ใหญ่เล็กไม่เท่ากัน นั่งขัดสมาธิไม่ได้ เดินกะเผลก หลังคด ทรมานจากการผ่าตัดหลายครั้ง ตั้งแต่ขวบครึ่ง ถึง สามขวบครึ่ง ต้องใส่เฝือกนาน 6-8 เดือนหลายครั้ง ปวดขาเรื้อรัง ต้องทุบแรงๆทุกคืนนานนับสิบปีจึงจะนอนหลับได้ แขนซ้ายอ่อนแรงกว่าแขนขวา แกว่งเป็น 360 องศาไม่ได้ ไม่นับรวมความเสียหายทางจิตใจ การเสียโอกาสหน้าที่การงานในอนาคต
โรงพยาบาลพญาไท 1 ปฏิเสธความรับผิดชอบหลังอายุ 20 ปี ลูกต้องผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมทุก 10 ปี เพื่อแก้ไขการทรุดเคลื่อนตัวของหมอนรองกระดูกสันหลัง แต่การเคยติดเชื้อในกระดูกทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้ข้อไทเทเนียมหรือเซรามิกที่มีราคาสูงเท่านั้น แต่บัตรทองไม่ครอบคลุม ครอบครัวของเธอต้องสิ้นเนื้อประดาตัว กับการรักษาลูก และต่อสู่คดีความ
ส่วนแพทยสภามีมติว่าคดีไม่มีมูล โดยไม่เคยเรียกเธอไปชี้แจง และฟังความเท็จ
เรื่องที่เธอเล่านี้ ทำให้ถูกบริษัท รพ.พญาไท 1 จำกัด (มหาชน) ฟ้องในคดีแพ่งว่า หมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท โดยมีจำเลยร่วมอีก 6 คนแต่ต่อมา โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยคนอื่นๆ เหลือเธอเพียงคนเดียว ต่อสู้คดีมา 11 ปี
"ดิฉันอดทนต่อสู้ เพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมว่า คนไข้ผู้ถูกละเมิด ไม่ควรถูกปิดปาก สามารถพูดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนได้ โดยไม่มีความผิด"
รพ. พญาไท 1 ยังฟ้อง นางปรียนันท์ ในคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาท ซึ่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทำให้คดีสิ้นสุด
ส่วนนางปรียนันท์ฟ้อง รพ.พญาไท 1 และหมอทั้งสองคนในคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหาย 57 ล้านบาทแต่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เพราะคดีหมดอายุความ ขณะนี้คดีอยู่ในศาลฎีกา
ดิฉันอดทนต่อสู้ เพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมว่าคนไข้ผู้ถูกละเมิดไม่ควรถูกปิดปาก สามารถพูดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนได้โดยไม่มีความผิด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 ต.ค. 2556--
- 1000 views