แพทยสภาออกแถลงการณ์กำหนด 3 แนวทางสำหรับแพทย์ หลังศาลฎีกาตัดสินคดีน้องหมิวว่าแพทย์ประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิด แถลงการณ์ระบุเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้รังสีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในประเทศไทยขาดแคลน ขณะที่แพทย์กังวลในประเด็น "ภาพรังสีที่ได้จำเป็นต้องให้รังสีแพทย์เป็นผู้แปลผลประกอบการรักษาทุกรายหรือไม่ และระหว่างที่ยังไม่มีผลอ่านจากรังสีแพทย์ จะให้ปฏิบัติเช่นไร?"
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 แพทยสภาออกแถลงการณ์ถึงสมาชิกแพทยสภา โดยระบุว่า สืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558 สรุปโดยย่อดังนี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าแพทย์ประมาทเลินเล่อ อันเป็นการละเมิด โดยระบุว่า "ไม่ได้ส่งผลเอ็กซเรย์ไปให้ผู้เชี่ยวชาญดูให้และสอบถามถึงผู้ใกล้ชิดว่าป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่.." และ "การรักษาไม่ถูกต้องครบถ้วนในเวลาอันสมควรตามหลักวิชาการแพทย์ และตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย.."
คณะกรรมการแพทยสภาได้รับทราบรายละเอียดเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว และรับทราบความกังวลของสมาชิกทั่วประเทศ ในประเด็นที่ว่า
"ภาพรังสีที่ได้จำเป็นต้องให้รังสีแพทย์เป็นผู้แปลผลประกอบการรักษาทุกรายหรือไม่ และระหว่างที่ยังไม่มีผลอ่านจากรังสีแพทย์ จะให้ปฏิบัติเช่นไร?"
ซึ่งเหตุของความกังวลนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่แพทย์ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่า จำนวนรังสีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในประเทศไทยขาดแคลนอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ในโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบพันแห่ง เกือบทั้งหมดไม่มีรังสีแพทย์ปฏิบัติงาน ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์เองก็มีรังสีแพทย์ไม่ครบทุกแห่ง และถึงแม้จะมี ก็ไม่เพียงพอต่อปริมาณภาพรังสีที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่รังสีแพทย์จะอ่านภาพรังสีได้ทุกภาพ และการอ่านผลของรังสีแพทย์ก็มีข้อจำกัด เพราะภาพรังสีที่เป็นภาพเงา 2 มิติ ของอวัยวะต่างๆ ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง โดยปราศจากข้อมูลสำคัญทางคลินิก
เพื่อให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แพทยสภาจึงขอสื่อสารไปยังสมาชิก ถึงแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
(1) แพทย์ทุกท่านที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีสิทธิในการใช้ดุลพินิจส่วนตนประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย ในการแปลผลภาพรังสีดังกล่าวด้วยตนเอง
(2) ในกรณีมีรังสีแพทย์ปฏิบัติงาน แพทย์สามารถใช้ดุลพินิจในการส่งให้รังสีแพทย์แปลภาพผลรังสีเพื่อประกอบการรักษาได้
(3) กรณีที่ไม่มีรังสีแพทย์ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล หรือไม่มีรังสีแพทย์อยู่ปฏิบัติงานในช่วงเวลานั้น แพทย์ยังคงต้องใช้ดุลพินิจในการแปลผลและให้การรักษาผู้ป่วยไปก่อน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยในการที่จะได้รับการรักษาพยาบาล เป็นสำคัญ โดยให้แจ้งผู้ป่วยทราบล่วงหน้าว่าไม่มีรังสีแพทย์ปฏิบัติงาน
(4) ในระยะยาว คณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติ ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ เพื่อศึกษา คำพิพากษา คำเบิกความ พยานเอกสาร และ รายละเอียดทั้งหมดของคดี รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการ การวิจัยที่เกี่ยวข้อง และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้คดีดังกล่าวนั้น นายมนูญ และนางเยาวภา ทินนึง บิดามารดาของ ดญ.กนกพร หรือ น้องหมิว ทินนึง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 12 ล้านบาท จากกรณีที่ ด.ญ.กนกพร ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย ระหว่างวันที่ 26-28 มิ.ย.2547 ด้วยอาการไข้สูง ปวดหัว ซึ่งแพทย์สงสัยว่า ปอดบวม แต่ตลอด 3 วัน ไข้ไม่ลด แต่ยังสามารถพูดคุยรู้เรื่อง ทานอาหารเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้
กระทั่งวันที่ 29 มิ.ย.2547 อาการทรุดลง มีอาการชักในบางครั้ง แพทย์จึงทำการเจาะไขสันหลัง จน ด.ญ.กนกพร ไม่รับรู้อะไรได้อีก และแพทย์สงสัยว่าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แล้ววันที่ 2 ก.ค.2547 ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น แพทย์วินิจฉัยว่าสมองติดเชื้อ เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง รับรู้อะไรไม่ได้และควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นได้มีการร้องเรียนไปที่ สธ. เพื่อขอความเป็นธรรม โดยเมื่อเดือน มี.ค.2559 ที่ผ่านมา มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้สาธารณสุขต้องชดใช้เงิน 2 ล้านบาทให้ครอบครัว ทินนึง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเมื่อปี 2552
- 225 views