ASTV ผู้จัดการรายวัน - ภาครัฐพยายามที่จะลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยโดยมีการอ้างอิงถึงคำแนะนำตามหลักปฏิบัติของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (Framework Convention on Tobacco Control) กรอบอนุสัญญาฯ ดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้นในทศวรรษที่แล้วที่นักล็อบบี้ยิสต์มักจะใช้ในการอ้างอิงเวลาที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขทำตามข้อเสนอของพวกเขาอย่างไม่ลืมหูลืมตา นอกเหนือไปจากคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า ทำไมนักล็อบบี้ยิสต์เหล่านี้จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขอีกหนึ่งปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อมีการร่างกฎระเบียบใหม่ใดๆ ก็ตาม ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่ทราบถึงข้อกำหนดที่แท้จริงที่อยู่ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฉบับนี้ด้วยซ้ำ
ตัวอย่างเช่น ล็อบบี้ยิสต์เหล่านี้กำลังทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการบังคับใช้มาตรการเพิ่มขนาดภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่จากขนาดเดิมร้อยละ 55 มาเป็นร้อยละ 85 ความตั้งใจในการบังคับใช้กฎระเบียบนี้คงจะได้รับการยินยอมและเห็นด้วยหากมาตรการนี้มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้จริง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่ากว่าร้อยละ 97 ของคนทั่วไปรับทราบและตระหนักดีอยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดโทษ แต่หากจะลองถามผู้สูบบุหรี่ ก็ได้รับคำตอบว่าภาพคำเตือนสุขภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาสูบน้อยลง
ในทางตรงข้าม ผู้ที่จะได้รับผลกระทบที่แท้จริง คือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กของประเทศไทยที่จะตกอยู่ในสภาพที่ต้องแบกรับภาระด้านกฎระเบียบและข้อบังคับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่เกิดจากแนวคิดของคนกลุ่มเดียวและเกิดจากแคมเปญการล็อบบี้ที่เกิดขึ้นอย่างลับๆ ความพยายามในการดำเนินแคมเปญนี้ได้ผลมากถึงขนาดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ประดิษฐ ต้องออกมาบอกว่าจะไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายนี้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างร้านค้าปลีกและผู้ประกอบการธุรกิจเพราะจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
นายแพทย์ประดิษฐยังอ้างด้วยว่ากฎระเบียบของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ นี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องพูดคุยกับใคร ก่อนที่จะออกกฎหมายที่เป็นประเด็นปัญหามากอย่างกฎเรื่องซองบุหรี่
ปัญหาอยู่ตรงที่ข้อเท็จจริงนั้นสวนทางกับคำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีสาธารณสุข เมื่อมาทบทวนข้อปฏิบัติในกรอบอนุสัญญาฯ จริงๆ แล้วจะพบว่ากรอบอนุสัญญาฯเพียงแค่กำหนดว่า "ในการจัดตั้งและบังคับใช้นโยบายใดๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของสาธารณชนในการควบคุมยาสูบประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการเพื่อปกป้องนโยบายเหล่านั้นจากกลุ่มการค้าหรือกลุ่มอื่นๆ ที่อาจมีผลประโยชน์ร่วมในอุตสาหกรรมยาสูบได้ โดยให้สอดคล้องตามข้อกำหนดในกฎหมายของประเทศสมาชิก"
หากเราตัดศัพท์เฉพาะทางด้านกฎหมายออกไป จะเห็นว่าสาระสำคัญนั้นปรากฏอยู่ในวลีสุดท้ายที่กล่าวถึง"ให้สอดคล้องตามข้อกำหนดในกฎหมายของประเทศสมาชิก" มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ว่าบุคคล "สามารถใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา"
นอกจากนี้ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีได้เน้นย้ำถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขในการเข้าไปพูดคุยและรับฟังประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อนที่จะมีการบังคับใช้นโยบายใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธที่จะรับฟังผู้ค้าปลีกและผู้นำเข้าในประเทศที่จะเป็นผู้ที่แบกรับภาระที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่สูงขึ้นจากมาตรการดังกล่าว ทางฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจจึงกล่าวว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอความช่วยเหลือจากศาลปกครอง
ในกรณีนี้ กระบวนการยุติธรรมได้เปิดรับที่จะฟังความจากทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยศาลปกครองได้ออกคำสั่งพิเศษเพื่อระงับการบังคับใช้กฎหมายใหม่จนกว่าศาลจะได้พิจารณาความแล้วเสร็จ หนึ่งในเหตุผลที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้นเนื่องจากศาลได้ตั้งคำถามว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรึกษาหารือที่จำเป็นกับผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ก่อนที่จะมีการออกกฎระเบียบดังกล่าว ในขณะที่นักล็อบบี้ยิสต์และเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างอ้างถึงหลักปฏิบัติของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ศาลปกครองได้ทบทวนข้อพิจารณาและยึดหลักกฎหมายในการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทยได้กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ว่าคำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ควรจะให้เป็นการตั้งมาตรฐานให้แก่กระทรวงต่อไปในการพิจารณาออกกฎระเบียบหรือกฎหมายควบคุมยาสูบใดๆ ในอนาคต และศาลเองก็ส่งสัญญาณชี้แนะว่าควรฟังความเห็นของทุกฝ่ายก่อนการตัดสินใจใดๆนางวราภรณ์ยังกล่าวต่อว่า รัฐมนตรีสาธารณสุขควรจะพิจารณาให้รอบคอบในการฟังคำแนะนำจากนักล็อบบี้ยิสต์ที่รายล้อมเขา เพราะเห็นชัดว่าอาจชักนำไปสู่เส้นทางที่ผิดได้
เมื่อกระบวนการยุติธรรมเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า การบังคับใช้กฎระเบียบที่ถูกยกร่างและชักใยโดยล็อบบี้ยิสต์นั้นไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้องในการบริหารงานอย่างโปร่งใส คำถามที่ยังคงต้องการคำตอบคือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐจะตระหนักหรือไม่ว่าควรจะคิดคำนึงถึงกฎหมายของประเทศไทยมากกว่าสิ่งที่นักล็อบบี้ยิสต์หรือหน่วยงานต่างชาติบอก
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 25 กันยายน 2556
- 73 views