เปิดฉากเจรจาการค้าเสรี FTA ไทย-สหภาพยุโรป รอบ 2 ที่เชียงใหม่ เครือข่ายองค์กรประชาสังคมหวั่นผู้แทนไทยขยายการคุ้มครองยาเกินขอบเขต WTO จะส่งผลต่อราคายาและการเข้าถึงยาของประชาชน ยื่น 5 ข้อเรียกร้องให้ทีมเจรจายืนยันไม่คุ้มครองยาอียูเกินกว่าข้อตกลง "ดร.โอฬาร ไชยประวัติ" เสนอทางออกดึงอุตสาหกรรมยายุโรปเข้ามาลงทุนตั้งบริษัทผลิตในไทย

การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป รอบ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่ ได้เริ่มต้นขึ้นด้วยความเงียบ และเต็มไปด้วยความ เข้มงวด เนื่องจากคู่เจรจาทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายไทยไม่ต้องการให้ภาพการเจรจาถูกเผยแพร่ออกไป ทั้ง ๆ ที่หัวข้อการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายระยะเวลาการคุ้มครองยากับการ ลดภาษี เป็นสิ่งที่กระทบกับภาคเอกชนและภาคประชาชนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้องค์กรภาคประชาชนต้องออกมารวมตัวเพื่อแสดงท่าทีให้กับผู้เจรจาทั้ง 2 ฝ่ายได้รับทราบ

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานบรรยากาศการประชุมเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-สหภาพยุโรปว่า ในแต่ละวันจะมีการแยกประชุมกลุ่มย่อยตลอดทั้งวัน ซึ่งในวันที่ 2 ของการเจรจาจะมีประชุม 8 กลุ่ม อาทิ การค้าสินค้า, กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิด, การค้าบริการ, ทรัพย์สินทางปัญญา, มาตรการเยียวยาทางการค้า, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, การศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, การค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะมีการสรุปภาพรวมในช่วงเย็น และจะสลับกันไปในหัวข้อเจรจาเหล่านี้ตลอดทั้งสัปดาห์

โดยหัวข้อเจรจาที่ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวของฝ่ายไทยจะได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา ที่คาดการณ์ว่าสหภาพยุโรปจะเรียกร้องให้ฝ่ายไทยให้ความคุ้มครองข้อมูลทดลองยาด้วยการให้อำนาจผูกขาดทางการตลาดแก่เจ้าของข้อมูล (Data Exclusivity) ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลทดลองยาต้นแบบเพื่อการขึ้นทะเบียนยาสามัญได้ แม้ว่ายาต้นแบบจะไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่ก็ตาม การขอขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร รวมไปถึงเงื่อนไข Duty Drawback การได้รับสิทธิประโยชน์ซ้ำซ้อนที่สหภาพยุโรปจะไม่ให้สินค้าที่ผู้ผลิตได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร, การคืนภาษีขาออกตามมาตรา 19 ทวิ, การลดหย่อนภาษีตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ได้รับสิทธิลดภาษีภายใต้ FTA

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย กล่าวถึงการเจรจากับ Mr.Joao Agular Machado รองปลัดกระทรวงการค้า คณะกรรมาธิการการค้ายุโรป หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรปว่า การเจรจาในรอบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการหารือและทำความเข้าใจกับร่างข้อบทที่ทั้ง 2 ฝ่ายเสนอ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในการเจรจาของแต่ละฝ่าย หลังจากจบการเจรจารอบนี้แล้ว จะมีการหารือกับภาคเอกชน-ภาคประชาชน-นักวิชาการ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะดูความเชื่อมโยงของแต่ละเรื่องที่เจรจาด้วย

อาทิ การคุ้มครองแรงงานและ สิ่งแวดล้อมที่จะมีผลต่อการลดภาษีสินค้า การเชื่อมโยงแต่ละหัวข้อเจรจามีความสำคัญต้องดูภาพใหญ่ทั้งหมดของความตกลง FTA ทั้งฉบับ จะดูแค่เฉพาะเรื่องแยกกันไม่ได้ เพื่อให้ท่าทีแต่ละเรื่องไปในทิศทางเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเจรจาในภาพรวม

ส่วนประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องของการเข้าถึงยาที่ภาคประชาสังคมแสดงความกังวลกรณีผู้เจ็บป่วยและมี รายได้น้อยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้นั้น ดร.โอฬารกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ฝ่ายไทยจะไม่รับข้อเสนออะไรที่มากเกินกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPs) ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และยึดถือ "ความยืดหยุ่น" ตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ TRIPs และการสาธารณสุข

"เราจะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ละฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างที่เรียกว่า Win Win ทั้ง 2 ฝ่าย ทางออกในเรื่องนี้ก็คือพยายามหารือร่วมกันในทางสร้างสรรค์ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การวิจัยและการพัฒนายา ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนร่วมกัน สร้างพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน เปิดให้อียูเข้ามาลงทุนเรื่องยาในประเทศไทย ผลิตยาออกไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน หากใช้วิธีการนี้เชื่อว่ายารักษาโรคจะไม่แพงและเข้าถึงยาเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น"

พร้อมกับยืนยันว่าฝ่ายสหภาพยุโรปเข้าใจดีถึงข้อกังวลในเรื่องยาของฝ่ายไทย ส่วนกรณีการได้รับสิทธิประโยชน์ซ้ำซ้อน (Duty Drawback) หากถูกหยิบยกขึ้นมาในระหว่างการเจรจานั้น ดร.โอฬารกล่าวว่า เรื่องนี้พึ่งเริ่มต้นหารือกัน อยู่ในระหว่างการศึกษาร่วมกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร เบื้องต้นคิดว่าจะพยายามเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย เมื่อภาคเอกชนอียูเข้ามาลงทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ด้วย ไม่ใช่ข้อจำกัด การเจรจาควรจะมีทั้ง Give and Take เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม (FTA Watch-เครือข่ายเกษตรทางเลือกเครือข่ายผู้ติดเชื้อ-เครือข่ายงดเหล้า- เครือข่ายกลุ่มคนรักษ์หลักประกันสุขภาพองค์กรพัฒนาเอกชน) ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้วยการชุมนุมและจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ข้อมูลเรื่อง FTA ที่ประตูท่าแพ ในวันที่ 18 กันยายน โดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จะส่งตัวแทน 20 คนเข้าพบกับคณะผู้เจรจาฝ่ายสหภาพยุโรปในเวลา 12.00 น. วันที่ 18 กันยายน เพื่อหารือรับทราบแนวทางการเจรจา และแสดงข้อห่วงกังวลประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการเจรจา ส่วนวันที่ 19 กันยายน จะมีการชุมนุมสมาชิกเครือข่ายประมาณ 3,000 คน เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ข้อมูลเรื่องยา, ความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วจะเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือกับทางคณะเจรจาฝ่ายไทยอีกครั้ง (ข้อเรียกร้อง 5 ประการ ตามตารางประกอบ)

"แนวคิดที่จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยาระหว่างไทย-สหภาพยุโรปนั้นยังไม่ชัดเจน หากจะเจรจาให้อียูมาลงทุนควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทย และไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นอุปสรรคในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนไม่ใช่แค่มาเทกโอเวอร์บริษัทยาสามัญ แล้วก็จ้างไทยแพ็กอย่างที่เคยทำในอินเดีย เพราะหากลงทุนแค่นั้น ไทยก็ไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อมูลว่า อียูมาลงทุนยาในไทยเลย" นายนิมิตกล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของนายบุศรินทร์ วนาสวัสดิ์ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปกติหากสหภาพยุโรปจะมาลงทุน ก็สามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนได้อยู่แล้ว การเจรจาประเด็นนี้ (Duty Drawback) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้สิทธิประโยชน์การลงทุนกับสหภาพยุโรปอย่างไรเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถึงอย่างไรหลักการอนุญาตทางบริษัทอียูคงจะต้องถือหุ้นสัดส่วนไม่เกิน 49% เช่นเดียวกับธุรกิจต่างด้าวอื่น

ด้าน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่มีต่อไทยมี 3 เรื่องหลัก คือต้องเป็นภาคี UPOV 1991, ภาคีสนธิสัญญาบูดาเปส และยอมรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างรุนแรงและกว้างขวาง เกษตรกรผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น การเก็บรักษาพันธุ์เพื่อปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนจะมีความผิดถึงขั้นจำคุก และต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัทและวิสาหกิจชุมชนที่ปรับปรุงพันธุ์พืชจากพันธุ์พืชใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 - 22 ก.ย. 2556