สปสช. ลั่นจำเป็นต้องบูรณาการ 3 กองทุน ลดความเหลื่อมล้ำ ชี้หากมีหน่วยงานกลางประมวลผลข้อมูลจะช่วยให้การบูรณการ 3 กองทุนราบรื่นยิ่งขึ้น ด้าน สธ.ชี้ อีก 10 ปีเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต้องใช้งบประมาณสุขภาพกว่า 2 แสนล้านบาท หากไม่วางแผนรองรับหายนะของระบบสุขภาพไทยเกิดขึ้นแน่
วันที่ 12 กันยายน 2556 ในงานประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข "ปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อคนไทยสุขภาพดี" ที่โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด มีการจัดเวทีเสวนา "ทิศทางการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" โดยมี นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเสวนา
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในภาพรวมการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยนั้นรัฐบาลไม่มีนโยบายในการรวมกองทุน แต่จะเน้นเรื่องการบริหารจัดการกองทุนร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ในแต่ละกองทุน รวมทั้งการบริหารจัดการกองทุนรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ สปสช. เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ และ สปสช. ยังขยายบทบาทการจัดบริการสุขภาพให้กับชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย รวมทั้งการบริหารจัดการการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้วย
นพ.สัมฤทธิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ในระหว่างที่ยังไม่สามารถบูรณาการรวมการบริหารจัดการ 3 กองทุนได้ ต้องมีหน่วยงานกลางในการประมวลข้อมูล (NCH : National Clearing House ) เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการประมวลผลข้อมูล เพิ่มความสะดวก ลดภาระให้กับหน่วยบริการ จะได้ไม่ต้องส่งข้อมูลเดียวกันให้กับหลายกองทุน และทำให้ระบบข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกัน หลังจากนั้นหน่วยงานนี้จะประมวลข้อมูล แล้วส่งกลับให้หน่วยงานที่บริหารกองทุนนั้นๆ ต่อไป
ส่วนการพัฒนาประสิทธิภาพของนโยบายบูรณาการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งยังมีปัญหาในส่วนของค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้เป็นคู่สัญญา ซึ่งผู้ที่เข้าไปใช้บริการส่วนมากจะเป็นข้าราชการ เมื่อเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลมักจะให้ญาติลงนามรับภาระหนี้ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นธรรม การมีนโยบายนี้ก็เพื่อทำให้กฎหมายที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ได้ถูกนำออกมาสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ทั้งนี้จะมีการทบทวนอัตราการจ่ายค่ารักษาใหม่ คาดว่าภายในตุลาคมนี้มีการพิจารณาในคณะรัฐมนตรี
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าบทบาทของเครือข่ายมหาวิทยาลัย มี 2 บทบาท คือ เป็นเครือข่ายการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ และการให้บริการรักษาพยาบาล ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์ปฏิบัติงานประมาณ 35,000 คน และที่ผ่านมาสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 ต่อประชากร 2,000 คน แต่มีปัญหาในเรื่องการกระจายแพทย์ที่เหมาะสมเพราะ ในกทม. แพทย์ 1: 600 คน ภาคอีสาน 1 : 4,000 คน อย่างไรก็ตามรัฐมีนโยบายเพิ่มการผลิตแพทย์หลายโครงการ ดังนั้นการที่จะมีแพทย์ 1 : 1,500 คน จึงไม่ใช่เรื่องยาก
นพ.ชาญชัยกล่าวว่า ปัจจุบันนักศึกษาแพทย์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องเพิ่มสมรรถนะให้ทำงานเป็นทีมได้ สามารถสังเคราะห์ วิเคราะห์ความรู้ได้ โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ดังนั้นโรงเรียนแพทย์จะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเฉพาะในมหาวิทยาลัยได้ แต่ต้องมีเครือข่ายการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้งานทุกระดับ โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะการผลิตแพทย์ เพื่อรองรับการให้บริการ และเพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรองรับนโยบายเมดิคอล ฮับ ของรัฐบาล ซึ่งจะต้องมีการดึงดูดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญออกจากระบบราชการมากขึ้น
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขของไทยมีอยู่จำกัดมาก จึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ระบบสาธารณสุขไทยมีความซับซ้อนมาก และยังมีปัญหาท้าทายคือ ความต้องการบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมาก เช่น จำนวนเตียงในโรงพยาบาลต้องเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนเตียงในอนาคต เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ที่กลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะมีการใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อรองรับประชากรกลุ่มนี้ ในอีก 10 ปี ข้างหน้า แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยมีภาระงบประมาณด้านอื่นๆ สูงอยู่ ดังนั้นหากไม่ทำอะไรระบบสาธารณสุขจะเข้าสู่ยุคหายนะ
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า หากมีการปรับยุทธศาสตร์การบริการ ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการมีผู้นำที่ดี และมีการประสานงานสอดรับกันระหว่างกระทรวง กรม ในการดำเนินนโยบาย เช่น service plan ซึ่งต้องให้กรมต่างๆ และโรงเรียนแพทย์เข้ามาช่วยมากขึ้น การพัฒนาระบบการบริการ รักษาพยาบาล การส่งเสริมป้องกันโรค การบูรณาการเพื่อลดรอยต่อระหว่างบริการระดับปฐมภูมิ ไปจนถึงระดับตติยภูมิ จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้
- 6 views