นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ รับประเทศไทยควรเริ่มเตรียมพร้อมรับ “การเป็นสังคมผู้สูงอายุ” ชี้ประเด็นหลักคือเรื่องของหลักประกันทางการเงิน ขณะที่งานวิจัยพบว่า การขยายอายุการทำงานวัยเกษียณ เป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขาดแคลนแรงงาน
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร มีการเสวนาวิชาการมโนทัศน์ใหม่ของผุ้สูงอายุ เรื่อง “การขยายอายุการทำงาน : บทเรียนจากต่างประเทศและบริบทสำหรับสังคมไทย” โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเป็นการทบทวนบทเรียนและประสบการณ์การขยายอายุเกษียณของ5 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย
รศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยผลกระทบการขยายอายุเกษียณ เนื่องจากในอนาคตจำนวนประชากรแรงงานมีแนวโน้มลดลง อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งภาคแรงงานจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวมาทำงานมากขึ้น จึงมีข้อเสนอในการขยายอายุเกษียณภาครัฐจากอายุ 60 ปี เป็น 65 ปี และยืดอายุการทำงานของลูกจ้างเอกชนต่อเนื่องจากอายุ 50 ปีไปเรื่อยๆ
โดยงานวิจัยผลกระทบจากการขยายอายุทำงาน พบว่า ลูกจ้างจะมีรายได้จากสวัสดิการภาครัฐเพิ่มขึ้น ส่วนเอกชนเมื่อเฉลี่ยแล้วจะมีรายได้และสวัสดิการสูงกว่าการเกษียณอายุที่ 50 ปี สำหรับนายจ้างจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในปีแรกๆ ที่ขยายอายุการทำงานลูกจ้าง แต่หลังจากช่วงปีที่ 5 เป็นต้นไป อาจจะคงที่ ซึ่งในมุมนายจ้างอาจมองไม่คุ้มกับการลงทุน จึงต้องศึกษาแนวทางรองรับต่อไป ส่วนภาครัฐถือว่าได้ประโยชน์ เนื่องจากจะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากแรงงานที่ทำงานต่อเนื่องได้เพิ่มขึ้น แต่ก็มีภาระการคลังที่ต้องส่งเสริมนโยบายด้านค่าจ้าง ต้นทุนสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในส่วนการจ้างงานพบว่า การขยายอายุเกษียณและขยายอายุการทำงานไม่ได้ทำให้อัตราการว่างงานของแรงงานวัยหนุ่มสาวอายุระหว่าง 15-29 ปีเพิ่มขึ้น เวทีเสวนายังเสนอบทเรียนจากต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เริ่มดำเนินนโยบายขยายอายุการทำงาน เช่น ประเทศสิงคโปร์ ทำได้ผลดี เนื่องจากประชากรน้อย ง่ายเก่การควบคุมและประชากรทั้งประเทศให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามนโยบายสำเร็จ ส่วนประเทศไทยอาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะจำเป็นต้องมีการสื่อสารกับประชาชนอยู่เสมอ รวมทั้งต้องปรับปรุงในเรื่องการศึกษาที่ปัจจุบันถดถอยลงมาก
ขณะที่หลายประเทศอย่าง สหราชอาณาจักร, สิงค์โปร์, เกาหลี, ญี่ปุ่น ยังไม่ทำเต็มรูปแบบ แต่ได้เตรียมการมาแล้วกว่า 10 ปี ส่วนประเทศฝรั่งเศส มีนโยบายนี้เช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นนโยบายทางการเมือง ซึ่งยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้
รศ.วรเวศม์ กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากเรื่องของการขยายอายุการทำงานแล้ว ประเด็นที่สำคัญในสังคมผู้สูงอายุ ก็คือจากนี้ไปจะมีอายุยืนขึ้น ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นหลังๆ จะมีน้อยลง เพราะฉะนั้นประเด็นหลักก็คือเรื่องของหลักประกันทางการเงินว่าจะสร้างหลักประกันทางการเงินที่มั่นคงได้อย่างไร เพราะอาจจะมาได้หลายทาง เช่น การส่งเสริมให้ออมเงินตั้งแต่วัยหนุ่มสาว หรือภาครัฐอาจจะจัดเรื่องของสวัสดิการบำนาญให้ เนื่องจากมีความสำคัญมาก ที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตหลายๆ ชุดก็ทำในเรื่องนี้ เช่น การขยายความครอบคลุมของเบี้ยยังชีพว่าเมื่อก่อนมีแต่ผู้สูงอายุด้อยโอกาส แต่ปัจจุบันมีเรื่องของสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนรัฐบาลชุดที่ผ่านมาสำทับให้มี พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ แต่ยังติดขัดอยู่ และปัจจุบันก็มีการสานต่อเพียงหรือนำไปปฏิบัติใช้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่ อีกเรื่องหนึ่งคือการที่เด็กมีแนวโน้มน้อยลง แสดงว่าภาพรวมของเด็กในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรมาดูแล ในปัจจุบันถือว่ายังมีบุตรที่คอยดูแลอยู่อาจจะไม่มีปัญหา แต่ในอนาคตเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุจะทำอย่างไร หากไม่มีภาวะพึ่งพา ทุพพลภาพก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อใดที่ล้มป่วยจะไม่ได้รับการดูแล ผมคิดว่า เรื่องของหลักประกันทางการเงิน เรื่องของระบบการดูแลจะมีความสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบันและต่อเนื่องไปถึงอนาคตด้วย
จากนี้ไปจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและภาคเอกชนต่อไป
ที่มา : www.manager.co.th
- 233 views