นักวิชาการห่วงรัฐชะลอตั้ง กอช.ติงโยกแรงงานนอกระบบเข้าไปอยู่ร่วมกองทุนประกันสังคมไม่เกิดผลดี หวั่นบริหารจัดการไม่ดี-คนทำงานไม่พอ แถมถูกการเมืองล้วงลูกตลอด ด้านตัวแทน สปส.ยอมรับคนทำงานยังไม่พร้อม แต่ต้องทำตามนโยบายรัฐ กังวลเงินกองทุนหมดภายใน 31 ปีข้างหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การออมระดับครัวเรือนกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร" เมื่อวันที่ 9 ส.ค. จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงนโยบายส่งเสริมการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่กฎหมายใช้บังคับมา 3 ปี แต่รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้กลไกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 รองรับแรงงานนอกระบบแทน
รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย กรรมการ ผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่ กอช. ไม่เกิดขึ้นทั้งที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ต้องถือเป็นเรื่องทางการเมืองล้วน ๆ เนื่องจากกฎหมายฉบับดังกล่าว มีการยกร่างขึ้นมาโดยมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน ขณะที่รัฐบาลกลับให้นำไปรวมกับกองทุนประกันสังคมนั้น จึงไม่แน่ใจว่าใช้ข้อมูลสนับสนุนแบบใด หากไม่มีกลไกรองรับสนับสนุนที่ดีพอ ก็ยากที่จะผลักดันให้เกิดการออมของแรงงานนอกระบบได้ตามเป้า
"กอช.ทำกับคนนอกระบบประกันสังคม 24 ล้านคน ถ้าไม่เพิ่มสิ่งที่จะมารองรับ อำนวยความสะดวก มองแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิด" รศ.ดร.มัทนากล่าว
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลนี้ไม่เดินหน้า กอช. ต่อเนื่อง ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกฎหมายที่บังคับใช้ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายมาแล้วทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลชุดก่อน จึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาทางกระบวนการประชาธิปไตยด้วย
ด้านผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัญหาของกองทุนประกันสังคมที่ไม่ยั่งยืนนั้น เนื่องจากทุกรัฐบาลที่เข้ามาต่างมีนโยบายให้ลดเงินสมทบ โดยจากที่มีการคำนวณพบว่า หากบริหารจัดการไม่ดี เงินกองทุนอาจจะหมดภายในปี 2587 ขณะที่นโยบายการให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 นั้น คงต้องยอมรับว่ากองทุนยังไม่มีความพร้อม แต่ก็ต้องดำเนินการไปตามนโยบายรัฐบาล
"เรายังไม่พร้อม เพราะคนทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้น มีเท่าเดิม และยังต้องเร่งรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบเข้ามาตามมาตรา 40 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ลำบากมาก บางทีต้องมีการแจกของพรีเมี่ยมถึงจะดึงคนได้ สำหรับ เจ้าหน้าที่มีการขอเพิ่มไป ทางคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) บอกว่าจะเพิ่มให้กว่า 200 คน ซึ่งถือว่ายังน้อย เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องทำ ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาการบริหารจัดการเป็นเรื่องหนักอกคนทำงานมาก" ตัวแทนจาก สปส.กล่าว
นางดัยนา บุญนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า จะให้ กอช.เข้าไปอยู่กับกองทุนประกันสังคม ต้องระมัดระวัง เนื่องจากประกันสังคมเป็นเรื่องไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ แต่ กอช.ส่วนใหญ่เป็นคนนอกระบบ จะมีเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเงินสมทบ ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเงินสมทบ หากรัฐจะนำกลุ่มนี้มารวมกับกลุ่มนายจ้าง ลูกจ้างในประกันสังคม ต้องคำนึงว่าต้องไม่ให้เป็นภาระกับกองทุน
นอกจากนี้ กองทุนประกันสังคมในปัจจุบัน มีการจ่ายเงินสมทบอยู่ระดับต่ำมาก ซึ่งใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ทั้ง ๆ ที่ควรมีมากกว่า 1-2 เท่า ดังนั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลายเรื่อง ทั้งกรณีเงินสมทบ รวมถึงการกำหนดอายุเกษียณของคนไทยที่ภาคเอกชนกำหนดไว้ต่ำที่ 55 ปี ซึ่งควรต้องขยายออกไป
"น่าจะใช้ประกันสังคมที่มีคน มีระบบทั่วประเทศอยู่แล้ว เป็นคนบริหารจัดการ กอช.ให้ แต่ไม่ควรมารวมกองทุน เพราะลักษณะ วัตถุประสงค์คนละอย่าง อยากให้ดูให้รอบคอบ แล้วประกันสังคมทุกคนก็รู้ว่า คำนวณแล้วไม่ยั่งยืน เพราะตอนตั้งไปให้ผลตอบแทนมากกว่าการจ่ายสมทบ ก็หวังว่าจะมีการแก้ ทำอย่างไรให้ประกันสังคมยั่งยืน จะกันนักการเมืองอย่างไร ไม่ให้เอะอะจะทำนโยบายประชานิยมก็ใช้กองทุนประกันสังคม" นางดัยนากล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง และนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้ พ.ร.บ.กอช. ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการเข้าเป็นสมาชิก กอช.ที่ตามกฎหมายแล้วต้องเปิดรับสมาชิกตั้งแต่ วันที่ 8 พ.ค. 2555
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 - 18 ส.ค. 2556
- 10 views