เปิดสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย อีกไม่เกิน 15 ปี วัยทำงานแบกรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ-เด็ก 2:1:1 ส่งผลครอบครัวเครียดค่าใช้จ่ายบาน กระตุ้นเตรียมพร้อมรับมือวางแผนชีวิตก่อนเกษียณ เน้นออม-พึ่งตนเอง สสส.รุกขยายผลชมรมผู้สูงอายุต้นแบบ 110 แห่ง พัฒนาหลักสูตร “โรงเรียนผู้สูงอายุ” สร้างผู้สูงวัยคุณภาพ นำร่องจ้างงานผู้สูงอายุ ในสถานประกอบการ 12 แห่ง
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกันจัดงานเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “สังคมสูงวัย..ก้าวไปด้วยกัน” โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในพิธีเปิด
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ ปี 2548 และคาดว่าในปี 2564 จะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุมากถึง 13 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์เหล่านี้นำมาสู่ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม จึงเป็นความท้าทายของประเทศที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพตั้งแต่วัยทำงาน โดยจะต้องมีการเตรียมการในทุกด้าน ตั้งแต่การสร้างหลักประกันด้านรายได้ การออมในช่วงวัยทำงานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพในวัยเกษียณหรือวัยสูงอายุ การสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับช่วงวัย การเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและวางแผนชีวิตอย่างมีคุณค่า บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยมีครอบครัวเกื้อหนุน ชุมชนช่วยเหลือ สังคมรัฐเกื้อกูล
ด้าน ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ดำเนินการจัดทำขึ้นทุกปี ทำให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของสังคมสูงวัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซึ่ง สสส. และหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบการดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และเตรียมความพร้อมประชากรเพื่อรองรับสังคมสูงวัยได้เป็นอย่างดี โดย สสส.สนับสนุนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่าง ๆ
ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม พัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามนโยบายและมาตรการรองรับสังคมสูงวัยของรัฐบาล โดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ตามแนวทางประชารัฐ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นหลักชัยของครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมให้ประชากรมีการเตรียมความพร้อม ใน 3 มิติ คือ
1.มิติด้านสุขภาพ เช่น การเตรียมความพร้อมสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยง เหล้า-บุหรี่ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงระยะยาว การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม
2.มิติด้านสังคม เช่น การพัฒนาศักยภาพและขยายผลชมรมผู้สูงอายุต้นแบบจำนวน 110 แห่ง การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุและพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อสร้างผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ และกระฉับกระเฉงสามารถดูแลตนเองได้ดี
3.มิติด้านเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนงานวิชาการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจ้างงานผู้สูงอายุ และโครงการนำร่องในสถานประกอบการ 12 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสและขยายอายุการจ้างงานแรงงานสูงวัย นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับภาคนโยบาย และการทำงานเชิงพื้นที่ร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยการใช้ชุมชนเป็นฐาน ทั้งในชุมชนท้องถิ่นและชุมชนเขตเมืองกว่า 300 แห่ง
ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุล่าสุด ในปี 2558 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 10.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.8 ทั้งนี้จากการคาดการณ์ประชากรในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 19 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) การเปลี่ยนแปลงทางประชากรสู่สังคมสูงวัยเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องตระหนัก โดยเฉพาะอัตราส่วนประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยสูงอายุ 1 คน ลดลงเรื่อยๆ
โดยอีกไม่เกิน 15 ปี ประชากรไทยจะเริ่มเข้าสู่รูปแบบที่วัยแรงงานต้องรับภาระการเลี้ยงดูกลุ่มประชากรผู้สูงอายุและเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 4.5 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (4:1:1) เป็นสัดส่วนประชากรวัยทำงานประมาณ 2 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรวัยเด็กอีก 1 คน (2:1:1) ทำให้ครอบครัวจะต้องประสบกับปัญหาความเครียดจากภาระค่าครองชีพและภาวะหน้าที่ที่ต้องดูแลคนในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในด้านเศรษฐกิจ พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 16.13 ยังคงเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน โดยผู้สูงอายุร้อยละ 38.3 ยังคงทำงาน แต่มีเพียงร้อยละ 18.5 เท่านั้นที่ต้องการทำงานด้วยความสมัครใจ แสดงว่าผู้สูงอายุจำนวนมากต้องทำงานเพราะความจำเป็นในการหารายได้เพื่อใช้ดำรงชีวิต ขณะที่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่กว่า 24 ล้านคนไม่มีหลักประกันรายได้กรณีชราภาพ และมีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 35.7 ที่มีแหล่งรายได้จากเงินออมหรือการถือครองทรัพย์สิน
ดังนั้น ย่อมเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในด้านต่างๆ โดยเฉพาะหลักประกันรายได้ยามชราภาพ ซึ่งภาครัฐต้องทำงานอย่างหนักในการหามาตรการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคที่ประชากรวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำงาน รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัวในยุคสังคมสูงวัยที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หรือผู้สูงอายุอยู่ลำพัง 2 คนจะใช้ชีวิตอย่างไร นอกจากนี้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่สุขภาพแย่ลง และต้องได้รับการดูแลยาวนานขึ้นด้วย
- 456 views